รถทัวร์ปรับอากาศสองชั้น ด้านหน้ามีรูปธงชาติไทยและกัมพูชาติดไว้คู่กัน พร้อมตัวอักษรสีขาวเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “รถโดยสารระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ” พาฉันเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังด่านปอยเปต ด่านพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ด้วยระยะเวลาเพียง 4 ชั่วโมง!
โดยมีเมืองเสียมเรียบ เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา เป็นจุดหมายปลายทาง ทันทีที่รถเข้าเขตด่านปอยเปต ความอึกทึก ไอร้อนและเสียงเครื่องยนต์ที่ดังกระหึ่มมาจากรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และรถทัวร์นักท่องเที่ยวที่ต่อแถวยาวเหยียดร่วม 3 กิโลเมตร เพื่อรอผ่านด่านพรมแดนปอยเปต คือสิ่งที่เข้ามาต้อนรับฉัน
ภาพที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้าคือรถสินค้านับร้อยคัน ห้างสรรพสินค้า โรงแรมขนาดใหญ่ นักเสี่ยงโชคที่เดินออกจากกาสิโนนั้นเข้ากาสิโนนี้ พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชามารอเวลาด่านเปิดแต่เช้าเพื่อรีบไปเปิดร้านที่ตลาดโรงเกลือแหล่งการค้าสำคัญและตลาดสำหรับแรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานรับจ้างในฝั่งไทย
-1-
...
ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในแถบอินโดจีนต่างทยอยได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกระลอกหนึ่งหลังจากนั้นคือสงครามอินโดจีนและสงครามเย็น การต่อสู้ ทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันระหว่างเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกับระบอบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพ โซเวียตและจีนหนุนหลัง ซึ่งดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและลาว
แต่ภาวะอึมครึมของสงครามเย็นก็ยังคงเกาะกุมอินโดจีนอยู่เพราะความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง
ช่วงสงครามเย็นมีการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน จึงทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนทั้งไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รวมตัวกันในปี ค.ศ.1967 เพื่อสร้างความเหนียวแน่นทางการเมืองให้กับกลุ่มอาเซียน คานอิทธิพลและยันพลังไหลทะลักของระบอบคอมมิวนิสต์
การรวมตัวของอาเซียนระยะแรกไม่มีเวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา เพราะถือว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน จนเมื่อพ้นยุคสงครามเย็น สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทั้งสี่ประเทศต่างทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกไล่เลียงกันมา นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับประเทศในแถบอินโดจีนได้เริ่มต้นขึ้น
-2-
หลังสงครามเย็น สถานการณ์โลกเริ่มผ่อนคลาย ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลไทยสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายการทูตแนวใหม่ นั่นคือ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอินโดจีน เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้งทางการเมืองให้เป็นความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม นำบรรยากาศแห่งสันติภาพมาสู่ภูมิภาค โดยไม่ถูกปิดกั้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอีกต่อไป
คำว่า “ภูมิภาคอินโดจีน” ที่เคยยึดโยงอยู่กับบริบทแบบเก่าของลัทธิอาณานิคมและสงครามทางการเมือง ก็ถูกแทนที่ด้วย คำว่า CLMV อันหมายถึงกัมพูชา (Cambodia) ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) ในบริบทแห่งการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของอาเซียน เป็นกลุ่มประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพในการพัฒนา
ในขณะเดียวกันการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปี 2016 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 1,013,389.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ร้อยละ 0.71 แม้เศรษฐกิจชายแดนจะดีวันดีคืน แต่ฝันร้ายจากอดีตยังคงตามหลอกหลอน
“ปัจจุบันกับระเบิดยังเป็นภัยคุกคามและสังหารผู้คนไปปีละเกือบ 100 คน กับระเบิดไม่เพียงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม แก่ชีวิตประชาชนแต่ยังฉุดรั้งชีวิตและการพัฒนาประเทศด้วย” แถลงการณ์ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในโอกาสวันตระหนักถึงอันตรายจากกับระเบิดแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ ผุดขึ้นมาราวกับจะตั้งคำถามถึงทิศทางการพัฒนาประเทศของกัมพูชาในอนาคต
ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังพัฒนาประเทศให้พลิกฟื้นจากความเสียหายของสงครามในอดีต ฉันกำลังยืนอยู่กลาง ทุ่งนาของเชียงขวาง ภาพตรงหน้าและรอบตัวคือหลุมขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินรบของอเมริกา บางหลุมถูกทิ้งให้วัชพืชขึ้น บางหลุมแปรเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงปลาและบ่อเก็บน้ำของชาวบ้าน
...
-3-
หลังสงครามสงบลง รัฐบาลลาวเดินหน้าพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีภายใต้นโยบาย “จินตนาการใหม่” ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1986 มุ่งเน้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เชื่อมลาวเข้ากับระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น เป้าหมายในการพัฒนาประเทศของลาวคือมุ่งลดอัตราความยากจนของคนในประเทศ และพาตนเองออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ภายในปี 2020
วิสัยทัศน์การพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของลาวคือการทำให้ลาวเป็นผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของอาเซียน หรือเป็น “Battery of Asia” ด้วยจุดแข็งทางทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ สายน้ำและขุนเขาที่ลาวมีอยู่ เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
การมาของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและการยอมให้นักลงทุนจากต่างชาติมาเช่าพื้นที่เพาะปลูก ด้านหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของลาวที่สร้างรายได้ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นก็จริง แต่สิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ฉันเดินทางไปลาว พร้อมๆ กับข่าวรัฐบาลลาวและจีนเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายยาวระหว่างลาว-จีน รวมระยะทาง 417 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทอดยาวจากด่านบ่อเต็นชายแดนลาว-จีน ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมเมืองคุนหมิงทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับเมืองหลวงของลาว
...
เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “One Belt, One Road” มหายุทธศาสตร์ของพญามังกรที่ต้องการเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ รอบโลกอีกด้วย
-4-
หลังสงครามเย็นมีการเกิดขึ้นของ “เศรษฐกิจเรขาคณิต” (Geometric Economy) โมเดลเศรษฐกิจที่สร้างการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม CLMV ให้เป็นรูปเหลี่ยมเพื่อพัฒนาความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ กระชับพลังตลาดและประชากร สร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมแต่ละเหลี่ยมของการรวมตัวทั้งใกล้และไกลให้โยงเข้าหากันและรวมพลังถ่ายเทกันได้ จนเป็นที่มาของเส้นทางคมนาคมและระเบียงเศรษฐกิจหรือ “Corridor” เชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆ ในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน
ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละเส้นทางมีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน มหาอำนาจทั้งจีนและญี่ปุ่นที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลมายังภูมิภาคนี้จึงให้ความสำคัญในแต่ละเส้นทางต่างกันไปด้วย
จะเป็นไปได้ไหมว่า หากอินโดจีนในอดีตคืออาณานิคมทางการเมืองของชาติมหาอำนาจตะวันตก กลุ่มประเทศ CLMV ในวันนี้จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อช่วงชิงโอกาส ผลประโยชน์ และอาจไปไกลถึงการเป็น “เจ้าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างพญามังกรจีนและญี่ปุ่น
...
เรื่อง วนิดา ทูลภิรมย์
ภาพถ่าย จันทร์กลางกันทอง
ที่มา - National Geographic