18 นาฬิกา 52 นาทีของเสาร์หนึ่ง ฟ้าหรุบหรู่และมีเมฆมาก สายน้ำเจ้าพระยาเต้นเร่าตามระลอกคลื่น สีสัน พรรณรายจากหลอดแอลอีดีแดง เขียว และน้ำเงิน สะท้อนผิวน้ำ ขณะนั้นเรือยอดพิมานล่องมาถึงบริเวณศาลเจ้าเกียนอันเกง แสงไฟจากตัวศาลและชุมชนวัดกัลยาณมิตรแลมัวซัว เวลานี้ชาวบ้านในชุมชนคงกำลังดูข่าวหัวค่ำ นอนเอกเขนก ไม่ก็ตั้งวงกินดื่ม แต่บนเรือยอดพิมาน เสียงเพลง “Pretty Boy” ของวง M2M กำลังแผดเสียงกระหึ่มกลางดาดฟ้าเรือ “รอบแรก เราจะเปิดเพลงชิลๆ สบายๆ ครับ แขกรอบนี้ส่วนมากอยากโรแมนติก” โจ้-อภิรักษ์ หมื่นสุวรรณ์ วัย 24 ปี บอกผม เขาเป็นดีเจประจำเรือยอดพิมาน เรือนำเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบทริประยะสั้น


คนขับเรือเร่งเครื่องแซงเรือโยง ซ้ายมือผมคือวัดกัลยาณมิตร พระปรางค์ผิวสีทองและอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อโต (พระพุทธไตรรัตนนายกหรือที่คนไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า “ซำปอกง”) ฝั่งตรงข้ามคือตลาดยอดพิมาน ช็อปปิ้งมอลล์ติดเครื่องปรับอากาศ ชั้นบนมีร้านชาบู อาหารทะเล บาร์บีคิว และลานเบียร์ “รอบสุดท้ายเลยครับพี่ ‘ตื๊ด’ มาก” ดีเจโจ้หันมาบอกผม เขาบอกว่าทริปเรือรอบราวสามทุ่มเป็นเที่ยวสุดท้ายของวันและสุดเหวี่ยงที่สุด

...

“ถ้าฝนไม่ตกนะครับ ทั้งคนเต้น คนเมา ปาร์ตี้กันสุดๆ ผมเห็นมาหมดแล้ว” ดีเจโจ้ยิ้ม
“แล้วถ้าฝนตก” ผมถาม
“ถ้าฝนตกก็ยังเต้นครับ แต่มาเต้นเบียดกันในร่มแทน” เขาบอก

ผู้โดยสารชาวอินเดียสองคนถือจานใส่ฝรั่งและสับปะรดเดินไปทั่วดาดฟ้าเรือ ฝรั่งสแกนดิเนเวียมากับแฟนสาวชาวไทยดวดเบียร์เข้าไปสามขวดแล้ว และกำลังเดินไปที่บาร์เพื่อสั่งเพิ่ม คนไทยแห่ตักเกี๊ยวทอด ส่วนนักท่องเที่ยวจีนน่ารักจิ้มลิ้มชูไม้เซลฟี่ถ่ายภาพกันเองอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับคู่รักเกาหลีที่ยังโพสท่าถ่ายรูปไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บนเรือลำนี้ให้บริการเครื่องดื่มและกับแกล้มไม่จำกัด สนนราคาต่อหัว 300 บาท รวมระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง “คุ้มสิครับกับบรรยากาศโรแมนติกกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อาหารเครื่องดื่มไม่จำกัด” คุณหนุ่ม เจ้าของเรือยอดพิมานบอกเรา


พอเรือล่องมาถึงวัดอรุณราชวราราม ฟ้ามืดไร้ดาว แสงไฟสปอตไลต์สาดส่ององค์พระปรางค์ที่ยังระเกะระกะไปด้วยนั่งร้านซ่อมบำรุง เหล่าเรือนำเที่ยวเปิดไฟสว่างไสวจอแจทั่วท้องน้ำ นักท่องเที่ยวกรูกันถ่ายรูปพระปรางค์ เป็นภาพฝันและจุดขายของทัศนียภาพริมฝั่งเจ้าพระยาอันลือลั่น พระปรางค์นี้เดิมมีมาตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งวัดอรุณฯ ยังใช้ชื่อว่า “วัดแจ้ง” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สอง มีพระราชดำริให้ต่อเติมองค์พระปรางค์ ให้สูงขึ้น ทว่าพระองค์ไม่มีโอกาสได้ทอดพระเนตรความงดงามเพราะเสด็จสวรรคตเสียก่อน กระทั่งพระปรางค์สร้างเสร็จและยกยอดนภศูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม นับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทั้งใหญ่และสูงตระหง่านที่สุดริมฝั่งน้ำในยุคนั้น


คู่รักจุมพิตกันเบื้องหน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ เรือภัตตาคารแล่นผ่านไป ผู้คนในคาเฟ่ริมฝั่งแม่น้ำเดินกรีดกราย การจราจรทางน้ำพลุกพล่าน ผมพยายามคิดจินตนาการถึงท้องน้ำย่านนี้ในยุคก่อสร้างพระปรางค์จากพงศาวดาร ภาพวาด และบันทึกเก่าแก่ ตั้งแต่เรือนแพริมน้ำ แสงไฟวูบไหว ท้องน้ำมืดมิด เรือแจวช้าเชือน พ่อค้าแม่ค้าเรือเร่ ไปจนถึงวิถีชีวิตชาวบ้านปะปน ทั้งคนกรุงเก่า แขก จีน และลาว เป็นความสงบที่ไม่อาจเทียบได้กับยุคปัจจุบัน

ตลอดประวัติศาสตร์ สายน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเมืองกรุง และเป็นหัวใจของการก่อร่างสร้างเมืองเมื่อครั้งรื้อฟื้นศูนย์กลางอาณาจักรในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร ก่อนไหลคดเคี้ยวลงสู่ปากอ่าว ในแต่ละยุคสมัย แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทั้งถนน ทางระบายน้ำ เส้นทางการค้า สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งอาหาร ไปจนถึงถังขยะของเมืองกรุง และอย่างที่นักปราชญ์ว่า แม่น้ำไม่หยุดรอ ไม่ก้มหัวให้ใคร ยิ่งใหญ่ทระนง แต่ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

...


เรือของเราเบนหัวกลับลำ ดีเจโจ้เปิดเพลง “You belong to me” ของ Taylor Swift ดังสนั่นลำโพง “คุณเป็น ของฉัน คุณเป็นของฉัน คุณเป็นของฉัน” เนื้อร้องซ้ำไปซ้ำมา เรือเร่งเครื่องเต็มกำลังตามแรงน้ำลง ผ่านปากคลองตลาด และสะพานพุทธ ที่ซึ่งคนไร้บ้านหลับนอนบริเวณท่าเรือเก่า ผ่านโรงแรมหรูหราที่คู่รักมื้อดินเนอร์กำลังจรดปลายมีดลงบนเนื้อสเต๊ก ผ่านสุเหร่าเก่าแก่ที่ผู้สยบยอมต่อพระผู้เป็นเจ้ากำลังสวดอ้อนวอนถึงพระองค์ ผ่านโรงเรียนซึ่งมีคำขวัญว่า “เวลาและวารีไม่รอใคร” ประดับอยู่บนผนังตึก และผ่านนับร้อยนับพันเรื่องราวของชีวิตริมน้ำที่หน้ากระดาษไม่พอบรรจุ การได้เห็นและคิดจินตนาการถึงชีวิตสองฟากฝั่งจากกลางสายน้ำทำให้ผมรู้สึกอิสระ เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้สัมผัสบ่อยๆ ยามเมื่ออยู่บนฝั่ง

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ที่มา - National Geographic
www.ngthai.com