ช่วงหลังมานี้ มีกระแสข่าวเกี่ยวกับ นักท่องเที่ยวถูกสัตว์ทะเลต่อย กัด หรือโดนพิษร้ายแรง ออกมาให้เห็นกันบ่อยๆ บางรายก็ไม่ร้ายแรง แต่บางรายก็ถึงขั้นเสียชีวิต ไหนๆ จะไปเที่ยวทะเลกันทั้งที ระวังเรื่องสัตว์อันตรายเหล่านี้ไว้ก็ดีนะ

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ เลยจะพาไปรู้จักสัตว์ทะเลอันตราย ทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ ที่เราควรระมัดระวังเอาไว้ ก่อนจะลงเล่นน้ำทะเล มาฝากกัน อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดู

1. หมึกบลูริง

สำหรับ 'หมึกบลูริง' เป็นหมึกสายวงน้ำเงินที่มีพิษรุนแรง ยิ่งกว่าพิษงูเห่าถึง 20 เท่า หากโดนกัดอาจเสียชีวิตภายใน 2-3 นาที และพิษของหมึกเพียง 1 ตัวสามารถฆ่าคนได้มากกว่า 20 คน

แม้จะพบได้ค่อนข้างน้อยในประเทศไทย แต่ก็ยังสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน หมึกชนิดนี้มีพิษเป็นลักษณะเดียวกับพิษปลาปักเป้า ทำให้เป็นอัมพาตและระบบหายใจล้มเหลว ไม่มียาแก้พิษ การรักษาต้องช่วยระบบหายใจและรักษาตามอาการ หากพ้น 24 ชั่วโมงได้ อาการจะดีขึ้นตามลำดับ

คนที่ไปเที่ยวทะเลสามารถเบาใจได้ เพราะโอกาสที่คนทั่วไปจะโดนหมึกชนิดนี้กัดแทบไม่มีเลย หมึกไม่เข้ามาในเขตน้ำตื้น แต่หากพบเจอ แม้ว่าจะเป็นในน้ำหรือบนบก ห้ามจับ ห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาด หรือถ้าตกได้ก็ห้ามจับปลดออกจากเบ็ด

...

2. แมงกะพรุน

แมงกะพรุนก็เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษรุนแรงเช่นกัน ล่าสุดก็มีข่าวว่าพบแมงกะพรุนกล่องในทะเลไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร พบในไทย 10-11 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีพิษต่างกันไป ส่วนความรุนแรงที่เกิดกับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ และความแพ้พิษของร่างกายแต่ละคน หากโดนหนวดพิษเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิตได้

แมงกะพรุนกล่องมีขนาดเล็ก จึงเคลื่อนที่เร็ว และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นอย่าไปเล่นทะเลในช่วงน้ำขุ่นๆ ส่วนถ้าจะลงดำน้ำก็ควรสวมเว็ทสูท จะช่วยป้องกันได้ เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย พบว่าเป็นคนเล่นน้ำตามชายฝั่งมากกว่านักดำน้ำ

เมื่อโดนพิษของแมงกะพรุนจะรู้ตัวทันที เพราะจะรู้สึกเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตหรือแส้ฟาด สิ่งที่ต้องทำคือ ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที และรีบล้างแผลด้วยน้ำทะเล หรือน้ำส้มสายชู ห้ามใช้มือถูเด็ดขาด

3. งูทะเล

งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูพิษ และมักมีพิษร้ายแรงด้วย พิษของงูทะเลเป็นพิษที่ทำลายระบบประสาท เช่นเดียวกับงูในจำพวกงูสามเหลี่ยม อาการที่โดนพิษจะออกฤทธิ์ช้ากว่างูบก โดยจะออกฤทธิ์เมื่อถูกกัดไปแล้วประมาณ ครึ่ง ชม. -1 ชม. ผู้ถูกงูทะเลกัดจะเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว

งูทะเลที่พบในประเทศไทยมีหลายสิบชนิด หลายวงศ์ หลายสกุล ชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ งูสมิงทะเลปากดำ มีความยาวได้ถึง 2 เมตร และมีพิษร้ายแรงที่สุด และมีอยู่เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ไม่มีพิษ คือ งูผ้าขี้ริ้ว

พิษงูทะเลนั้น ร้ายแรงกว่างูเห่า 2 - 10 เท่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ แต่โดยทั่วไป งูทะเลเวลาอ้าปากกัด ปากจะเล็กกว่างูบก และปล่อยพิษออกมาได้น้อยมากๆ จึงไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อคนเท่าไร ยกเว้นแต่ว่า ถ้าเป็นเด็กถูกกัดก็มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ งูทะเล ไม่มีนิสัยก้าวร้าว แต่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น งูอาจว่ายเข้ามาสังเกตดูนักดำน้ำใกล้ๆ แต่จะไม่ทำอันตรายนักดำน้ำ

4. หอยเม่น หรือเม่นทะเล 

...

หอยเม่น เป็นหอยทะเลในวงศ์ Diadematidae ชนิดหนึ่ง ลักษณะทั่วไปมีเปลือกแข็งเป็นทรงกลมสีดำ และมีหนามแหลมสีดำยื่นออกมารอบตัวคล้ายเม่น โดยเปลือกนั้นจะทำหน้าที่ในการเป็นเกราะห่อหุ้มป้องกันตัวหอยไว้ ภายในหนามจะกลวงและบรรจุพิษอยู่ภายใน หนามนี้จะแทงทะลุผิวหนังได้ง่าย เมื่อหักจะปล่อยสารพิษออกมา

หากชอบดำน้ำ แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงโซนโขดหินที่มีหอยเม่นเยอะๆ เพราะถ้าหากถูกหนามของหอยเม่นตำเข้า จะรู้สึกปวดมาก โดยหนามของมันจะหักคาอยู่ในเนื้อมองเห็นเป็นจุดดำๆ และดึงออกยาก เพราะมีลักษณะเปราะบาง ปลายมักจะหักไปซะก่อน

แต่ถ้าเผลอเหยียบเข้าไป วิธีการปฐมพยาบาลคือ ให้รีบเอาเท้าแช่น้ำอุ่น ช่วยให้หนามละลายได้เร็วขึ้น หรือใช้สารที่เป็นกรดต่างๆ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู ก็ช่วยได้

5. ฉลามหัวบาตร หรือ Bull Shark 

เจ้าตัวสุดท้ายนี้ไม่มีพิษ แต่มีฟันแหลมคมน่ากลัว หากโดนกัดก็จะทำให้เกิดแผลเหวอะหวะ และเสียเลือดมาก จนอาจเสียชีวิตได้ ถ้าสังเกตที่แผลจะพบว่า มักเป็นแผลขนาดใหญ่ รอบแผลมีลักษณะช้ำ ขอบบาดแผลฉีกขาดคล้ายโดนของมีคมตัด และลึกจนถึงชั้นเนื้อ

...

ฉลามหัวบาตรสามารถพบได้ในทะเลไทย ที่ผ่านมาคนที่ถูกฉลามกัดในเมืองไทยมีน้อยมาก แต่ก็เป็นฉลามที่พบได้ทั่วโลก มีรายงานว่าจู่โจมคนเป็นประจำ (ติดอันดับ 1 ใน 3 ของฉลามอันตรายที่สุด) นอกจากนี้มันยังเป็นฉลามที่ว่ายเข้าน้ำตื้นได้

แต่จริงๆ แล้วฉลามไม่ได้ชอบทำร้านคน ยกเว้นแต่ว่าฉลามว่ายเข้ามาเจอคนกำลังเล่นน้ำ แล้วเห็นอะไรไหวๆ ก็เลยงับเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เมื่อรู้ว่าไม่ใช่อาหาร ก็ไม่สนใจและว่ายหนีไป บางทีที่เห็นว่าฉลามทำร้ายคนส่วนใหญ่เป็นเพราะมนุษย์เข้าไปรุกล้ำแหล่งอาศัย หรือเพราะมันก็คิดว่าเป็นอาหาร