เกิดดราม่ากันสนั่นโลกโซเชียลอีกแล้ว กับกรณีดีเจหนุ่มชื่อดัง ลงดำน้ำชมปลาทะเลสวยงามพร้อมให้อาหารปลาใต้ทะเลด้วย พอโพสต์คลิปให้อาหารปลาทะเลปุ๊บ ก็มีผู้หวังดีเข้ามาเตือนว่าไม่ควรทำ ซึ่งก็มีการตอกกลับกันไปมาอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน จนประเด็นนี้ ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางท้องทะเลมาตลอด ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก thon.thamrongnawasawat ว่า
เรื่องนี้มีการประชุมทางวิชาการมาหลายครั้งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลากหลายมาให้ความเห็นร่วมกัน จนกรมอุทยาน 'ไม่อนุญาต' ให้มีการเลี้ยงปลาในแนวปะการังเขตอุทยาน กรมทะเลได้ประชุมอีกหลายครั้ง สรุปเป็นมาตรการว่าอีกไม่นานจะไม่อนุญาตให้เลี้ยงปลาในแนวปะการังใดๆ ในทะเลไทย
ที่ผ่านมาในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ และจบมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษาทั่วโลก มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน ไม่เคยมีการสงสัยหรือคัดค้านในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น หากใครมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้โดยตรง
...
อยากให้เข้าใจในกระบวนการศึกษาและการจัดทำมาตรการด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การประชุมทางวิชาการมีไว้เพื่อหล่อหลอมความคิดเห็น ก่อนออกมาเป็นมาตรการ นี่เป็นหลักที่ใช้ในสากล
"ผมทำงานด้านนี้มาตลอด 30 ปี ผมยอมรับกระบวนการนี้ครับ" ดร.ธรณ์ย้ำ
นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ ยังได้ให้ความรู้ดีๆ เกี่ยวกับข้อเสียของการให้อาหารปลาทะเลในแนวปะการังอีก 11 ข้อไว้น่าสนใจมากๆ อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลย
1. แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่อ่อนไหว มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงที่สุดในโลก เช่น ปลาในแนวปะการังที่มีนับพันๆ ชนิด
2. ปลาเป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศ บางชนิดกินสาหร่าย ช่วยควบคุมให้ปริมาณสาหร่ายไม่มากเกินไป ช่วยทำให้แนวปะการังรักษาสมดุลอยู่ได้
3. ปลาในแนวปะการังเป็นสัตว์มีที่อยู่อาศัยชัดเจน ปลาจะมีปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมีวิถีตามธรรมชาติเป็นสิ่งควบคุมจำนวนปลา
4. ปลาในแนวปะการังมีอยู่หลายกลุ่ม มีเฉพาะเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่กินอาหารไม่เลือก และสามารถกินอาหารที่มนุษย์ให้ได้ เช่น เราไม่เห็นปลาผีเสื้อหรือปลานกแก้วมากินขนมปัง
5. อาหารท่ีมนุษย์ให้ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในแนวปะการัง ทำให้ปลาบางกลุ่มได้เปรียบปลาอีกกลุ่ม เพราะมีอาหาร (จากมนุษย์)
6. ปลาที่กินอาหารมนุษย์ จะมารวมตัวกัน และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพราะมีอาหารกินไม่จำกัด จากนั้นจะยึดพื้นที่ ขับไล่ปลาเจ้าถิ่นออกไป
7. ปลาที่ถูกขับไล่ออกไป ไม่มีที่อยู่ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณอื่นได้ จึงค่อยๆ มีปริมาณลดน้อยลงจนหมดไป
8. เมื่อปลาส่วนใหญ่ที่คอยกินสาหร่ายหรือกินอาหารอื่นๆ ที่ควบคุมสมดุลในแนวปะการังหายไป เหลือแต่ปลากินขนมปัง ระบบนิเวศย่อมไม่เหมือนเดิม เช่น สาหร่ายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ปลาที่กินอาหารหลากหลาย เดิมทีกินสาหร่ายบ้าง กินอาหารอื่นบ้าง เมื่อมีอาหารจากมนุษย์ที่มีเยอะและหาง่ายกว่า ย่อมเปลี่ยนพฤติกรรมไป
9. ปัจจุบันภาวะโลกร้อนส่งผลให้ทะเลเปลี่ยนแปลง เกิดสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปะการังฟอกขาว โอกาสที่ปะการังอยู่รอดมีน้อยอยู่แล้ว หากขาดปลาที่คอยควบคุมสาหร่ายหรือสมดุลระบบนิเวศ แนวปะการังยิ่งเสื่อมโทรมไปกันใหญ่
10. ข้อมูลล่าสุดจากกรมทะเล คือ ปะการังไทยเหลือแค่ 23% และลดลงปีละ 1% หากเป็นเช่นนี้ ในอีก 20 ปี เราอาจไม่มีปะการังเหลือ การรักษาปะการังทุกทางจึงยิ่งมีความสำคัญสูงสุด
...
11. กรมทะเลกำลังอยู่ระหว่างการประกาศให้แนวปะการังเป็นพื้นที่วิกฤติ และมีมาตรการต่างๆ มาใช้ หนึ่งในนั้นคือห้ามให้อาหารสัตว์น้ำและการเลี้ยงปลาในแนวปะการังทุกแห่งในประเทศไทย และนั่นคือกฎหมายที่อุทยานใช้อยู่ในทุกวันนี้
สุดท้าย คงไม่ต้องบอกว่า หากแนวปะการังหมดไป เราจะเดือดร้อนแค่ไหน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ 28.5 ล้านคน กว่า 70% ไปเที่ยวทะเล และแน่นอนว่าจำนวนมากไปเที่ยวในแนวปะการัง (ข้อมูลททท.)
ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายถึงเหตุการณ์นี้ว่า การเลี้ยงปลาในลักษณะนี้ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน เนื่องจากทางกรมอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้มีประกาศ ห้ามให้อาหารปลาในเขตอุทยานฯ อย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2555 กล่าวคือ มีโทษจับและปรับ 500-10,000 บาท
ส่วนการให้อาหารปลานอกเขตอุทยานฯ ตอนนี้ยังไม่ผิด แต่ในอนาคตอันใกล้ก็จะผิดแน่นอน ทางที่ดีก็คือไม่ควรให้อาหารปลาหรือเลี้ยงปลาในท้องทะเลไทยไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
ที่มาข้อมูล : thon.thamrongnawasawat
...