สำหรับนักเดินทางตัวยง คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อท่องเที่ยว ศึกษาต่อ หรือเจรจาทางธุรกิจ สิ่งแรกที่คุณต้องมีก็คือ หนังสือเดินทาง หรือที่เรียกกันติดปากว่า พาสปอร์ต แต่สำหรับนักเดินทางน่าใหม่ อาจจะยังมีข้อสงสัยว่าการจะได้มันมาสักเล่ม ต้องทำไง?
วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ มี 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาสปอร์ตประเภทต่างๆ และขั้นตอนการขอพาสปอร์ตมาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเดินทางอย่างคุณไม่มากก็น้อย ถ้าพร้อมแล้ว...ตามมาชมกันเลย
1. พาสปอร์ต คืออะไร?
พาสปอร์ต (Passport) หรือ หนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่ใช้แสดงความเป็นตัวตนของเรา เวลาเราจะเดินทางไปต่างประเทศ เอกสารนี้เป็นสากลใช้ได้ทั่วโลก และยังเป็นสมุดบันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ อีกด้วย
2. แล้ว 'พาสปอร์ต' ต่างจาก 'วีซ่า' ยังไง?
พาสปอร์ต เป็นเอกสารที่ออกให้คนสัญชาติของตนใช้เป็นเอกสารแสดงตนในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ก่อนจะเดินทางต้องนำพาสปอร์ตไปขอวีซ่าจากสถานทูต/สถานกงสุลของประเทศที่ต้องการจะไป เรียกว่าเป็นเหมือนบัตรประชาชนเวอร์ชั่นรอบโลก ที่เราต้องมีไว้แสดงตน
...
แต่ วีซ่า คือ เอกสารที่แต่ละประเทศจะขอเรียกดูจากคนสัญชาติอื่น เพื่ออนุญาตให้คนสัญชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามายังประเทศตนได้ โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนว่าจะอนุญาตหรือไม่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบัตรผ่านเข้าประเทศ
3. ประวัติหนังสือเดินทางไทย
เริ่มมีหลักฐานและข้อมูลในสมัย ร.5 มีการออกเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางสำหรับคนไทย โดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ กำหนดตราประทับคือตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนเอกสาร มีกำหนดอายุ 1 ปี
เริ่มแรกเอกสารนี้ใช้เดินทางข้ามเขต เมือง มณฑลภายในประเทศเท่านั้น ต่อมาทางราชการสยามได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้คนสยามที่จะเดินทางไปต่างประเทศต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางจากเจ้าเมืองทุกคน
ต่อมา มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทางไปต่างประเทศที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า โดยหน้าแรกเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง มีอายุการใช้งาน 1 ปี
4. พาสปอร์ตไทยในปัจจุบัน
หนังสือเดินทางไทย (Thai passport) เป็นหนังสือเดินทางที่ออกให้เฉพาะประชาชนไทย โดยกองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ สามารถออกในประเทศไทยโดยหน่วยงานในสังกัดกองหนังสือเดินทาง บางกรณีอาจจะออกได้ที่สถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ หรือสถานกงสุลไทยทั้ง 86 แห่งทั่วโลก
พาสปอร์ตไทยสำหรับประชาชนทั่วไป รุ่นปัจจุบันจะมีสีแดงเลือดหมู โดยมีตราครุฑอยู่ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และมีคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) อักษรและสัญลักษณ์ที่หน้าปกเป็นสีทอง
5. ขนาด
หนังสือเดินทางไทยมีขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 12.5 เซนติเมตร มีจำนวนหน้าทั้งหมด 50 หน้า
6. ข้อมูลภายในเล่ม
จะบรรจุข้อมูลจำเพาะของผู้ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางประเทศไทยจะมีข้อมูล 2 ภาษา เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้
...
- รหัส (Type) 'P' อักษรย่อสำหรับคำว่า "Passport"
- ประเทศ (Country code) "THA" สำหรับประเทศไทย
- หนังสือเดินทางเลขที่ (Passport No.) มีรูปแบบเป็น A123456 (ตัวอักษรหนึ่งตัว ตัวเลขหกหลัก)
- นามสกุล (Surname) เป็นภาษาอังกฤษ
- คำนำหน้าชื่อ ชื่อ (Title Name) เป็นภาษาอังกฤษ
- ชื่อภาษาไทย (Name in Thai) ประกอบด้วยคำนำหน้า ชื่อ และนามสกุลเป็นภาษาไทย
- สัญชาติ (Nationality) "THAI" สำหรับประชาชนไทย
- วันเกิด (Date of birth) ในรูปแบบ DD-MMM-YYYY (วัน เดือน ปี ค.ศ.) เช่น 20 NOV 2006
- เลขประจำตัวประชาชน (Personal No.)
- เพศ (Sex) "M" สำหรับบุรุษ หรือ "F" สำหรับสตรี
- ส่วนสูง (Height) หน่วยเป็นเมตร
- สถานที่เกิด (Place of birth) โดยทั่วไปจะเป็นจังหวัดที่เกิด
- วันที่ออก (Date of issue) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด
- วันที่หมดอายุ (Date of expiry) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด โดยจะหมดอายุในอีก 5 ปีให้หลัง
- ออกให้โดย (Authority) โดยทั่วไปจะเป็น "MINISTRY OF FOREIGN AFFAIR"
- ลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง (Signature of bearer)
...
7. ประเภทของพาสปอร์ต
- หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู) : ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี
- หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม) : หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว ออกให้เฉพาะข้าราชการ
- หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด) : ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
1. พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
3. พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
4. ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
5. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
6. ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
7. ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
8. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
9. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
10. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ
11. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
12. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตร 13. คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
14. บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย
- หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว) : เป็นพาสปอร์ตที่ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม และออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ มีอายุ 2 ปีเท่านั้น
...
8. ขั้นตอนการขอพาสปอร์ต
- รับบัตรคิว
- ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก
- วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ขวาและนิ้วชี้ซ้ายด้วยเครื่องสแกนข้างละ 2 ครั้ง และถ่ายรูป 2 ครั้ง
- ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (ถ้าให้ส่งไปให้ทางไปรษณีย์ เพิ่ม 35 บาท)
- รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม
- กรณีที่ไม่สะดวกมารับเล่มเอง สามารถให้ผู้อื่นมารับแทนได้ โดยนำใบรับหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ขอหนังสือเดินทาง และบัตรประชาชนของผู้รับแทน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับแทน 1 ชุด เพื่อเป็นหลักฐานการรับหนังสือเดินทาง
9. พาสปอร์ตไทย ไปเที่ยวประเทศไหนได้บ้าง?
สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่อยากไปท่องเที่ยวต่างแดน แต่ไม่อยากเสียเวลาไปทำวีซ่าล่วงหน้า ก็อาจจะเริ่มจากการไปเที่ยวในประเทศที่สามารถใช้เพียงพาสปอร์ตไทยเล่มเดียวก็เที่ยวได้ โดยมีประเทศต่างๆ ดังนี้
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 90 วัน : อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เกาหลีใต้ เปรู เอกวาดอร์ ปานามา
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 30 วัน : มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ฮ่องกง มาเก๊า อินโดนีเซีย มองโกเลีย มัลดีฟส์ เซเชลส์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ตุรกี
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 21 วัน : ฟิลิปปินส์
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 15 วัน : ญี่ปุ่น
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 14 วัน : กัมพูชา บรูไน บาห์เรน
10. หน่วยงานที่ให้บริการทำพาสปอร์ต
กรุงเทพฯ ได้แก่
- กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ อาคารกรมการกงสุล 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 0 2981 7171-99 โทรสาร 0 2981 7256
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา- ศรีนครินทร์ ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค บางนา -ศรีนครินทร์ ชั้น 2 โซนอี โทรศัพท์ 02 136 3800 โทรสาร 02 136 3801
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ชั้น 8 ถนนบรมราชชนนี โทร. 0 2884 8831, 0 2884 8838 โทรสาร 0 2884 8825
จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทร. 0 5389 1535-6 โทรสาร 0 5389 1534
จังหวัดสงขลา ได้แก่
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดสงขลา . ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) ชั้น 1 ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 9000 โทร. 0 7432 6510-1 โทรสาร 0 7432 6506
จังหวัดขอนแก่น ได้แก่
• สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ราชการ จังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ โทร. 0 4324 2707, 0 4324 3462, 0 4324 2655 โทรสาร 0 4324 3441
ขอบคุณภาพ : cntraveler.com, buzzfeed.com, vagabundoprofissional.com.br,