ไหน? ใครว่าเทศกาลสงกรานต์จบแล้ว? คิดผิดคิดใหม่ได้เลย เพราะความสดชื่นรื่นเริงของเทศกาลวันปีใหม่ไทยยังไม่จบลงง่ายๆ ในหลายพื้นที่ยังมีการจัดงานสงกรานต์ต่อเนื่องไปอีก และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น 'วันไหลสงกรานต์' นั่นเอง ซึ่งก็มีทั้งในภาคกลางบางพื้นที่และภาคตะวันออก
สำหรับในภาคกลางนั้น คงรู้จักกันดีกับ วันไหลสงกรานต์ของพระประแดง เป็นประเพณีสงกรานต์แบบเก่าแก่ของชุมชนชาวมอญ ที่พักอาศัยอยู่ในเมืองไทยมายาวนานตั้งแต่อดีต ว่าแต่...ที่นี่มีความน่าสนใจยังไง มีอะไรพิเศษ ทำไมใครๆ ก็ไปเที่ยวชมอย่างเนืองแน่นทุกปี วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ หาคำตอบมาแถลงไขให้กระจ่าง ถ้าอยากรู้ก็ตามมาอ่าน 10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์เมืองพระประแดงกันเลย
1. พระประแดง ดินแดนรามัญแต่อดีต
พระประแดง แต่เดิมชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือที่ชาวมอญเรียกกันว่า เมืองปากลัด ที่นี่เป็นเมืองหน้าด่านของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่ป้องกับการรุกรานของข้าศึกที่ยกมาทางทะเล สำหรับชนพื้นเมืองดั้งเดิมของพระประแดง แน่นอนล่ะว่าก็คือ ชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย เป็นเวลากว่าร้อยปีมาแล้ว
...
ว่ากันว่า ชาวมอญเริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพ เมื่อ พ.ศ. 2127 ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2318 ปรากฏว่ามีชาวมอญอพยพเข้ามาเพิ่มอีกจากทางด้านจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองนนทบุรี ตั้งแต่ปากเกร็ดถึงปทุมธานี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 มีพวกมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ได้ทรงสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์แล้ว จึงโปรดให้อพยพครอบครัวมอญจากเมืองสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไปอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ตั้งแต่นั้นมา พื้นที่บริเวณนั้นจึงขยายตัวเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ มีวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ เป็นแบบมอญทั้งสิ้น
2. สงกรานต์ปากลัด พิเศษกว่าที่อื่นยังไง
อย่างที่บอกว่า เมืองปากลัด หรือพระประแดง เป็นชุมชนมอญที่ยังมีวิถีวัฒนธรรมเป็นแบบมอญทั้งสิ้น รวมถึงประเพณีสงกรานต์ หรือที่เรียกว่า 'สงกรานต์ปากลัด' ก็มีความพิเศษกว่าที่อื่น คือ สงกรานต์ของที่นี่จะจัดขึ้นหลังจากวันที่ 13 เมษายนไปประมาณ 7 วัน และนักท่องเที่ยวจะได้เห็นประเพณีสงกรานต์โบราณแบบชาวมอญแท้ๆ ที่หาที่ไหนไม่ได้ สำหรับปีนี้ งานสงกรานต์พระประแดงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2558
พูดได้ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมมอญฝังรากแน่นแฟ้นในพระประแดง ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้คนพระประแดงคือคนไทยเต็มตัว แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวันสงกรานต์ถือเป็นวันปีใหม่ของชาวมอญเช่นกัน ทางจังหวัดสมุทรปราการและชาวอำเภอพระประแดง จึงได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์พระประแดงขึ้น เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ของไทย และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ของชาวรามัญเอาไว้
3. สรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำดำหัว
สำหรับประเพณีสงกรานต์แบบชาวมอญดั้งเดิม เริ่มจาก การสรงน้ำพระสงฆ์ พิธีนี้สืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยกำหนดวันที่จะไปสรงน้ำพระสงฆ์ให้เจ้าอาวาสทราบ จากนั้นจะสร้างซุ้มกั้นเป็นห้องน้ำด้วยทางมะพร้าว ปูพื้นด้วนแผ่นกระดานสำหรับให้พระเข้าไปสรงน้ำ ทำรางน้ำต่อเข้าไปในซุ้มยาวพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระกันอย่างทั่วถึง โดยจัดตั้งโอ่งน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำในโอ่งนี้สรงน้ำพระ โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่มีอาวุโสสูงลงสรงก่อน ชาวบ้านจะใช้ขันตักน้ำในโอ่งเทลงไปในราง น้ำจะไหลตามรางเข้าไปในซุ้มเพื่อสรงน้ำพระ(อาบน้ำให้พระ) สามารถนำน้ำอบน้ำปรุงเทปนลงไปกับน้ำในรางด้วยก็ได้ การสรงน้ำพระถือเป็นการขอพรและสร้างกุศลทำให้อยู่เย็นเป็นสุข
หลังจากสรงน้ำพระเสร็จแล้ว เป็นการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณี และต่อด้วยการรดน้ำของหนุ่มๆ สาวๆ โดยสามารถรดน้ำกันได้ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือหลังจากที่สาวๆ ไปส่งข้าวสงกรานต์ (เป็นข้าวแช่พร้อมกับข้าว ที่สาวชาวมอญจะต้องทำไปถวายพระในตอนเช้าของวันสงกรานต์) ส่วนครั้งที่สอง คือเมื่อสาวๆ กลับจากสรงน้ำพระสงฆ์ตามวัด และครั้งที่สาม คือหลังจากสรงน้ำพระพุทธรูปในมณฑปวัดโปรดเกตุเชษฐาราม ทุกครั้งจะต้องเป็นการรดน้ำโดยสุภาพ ซึ่งชาวมอญเคร่งครัดเรื่องนี้อย่างมากจวบจนปัจจุบัน
...
4. ชมพิธีโบราณแห่หงส์ธงตะขาบ
นอกจากการสรงน้ำและรดน้ำแก่กันและกันแล้ว สิ่งต่อมาที่ห้ามพลาดชม คือ การแห่หงส์ธงตะขาบ โดยชาวมอญถือว่าเป็นการบูชาและเฉลิมฉลองเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชาวมอญจึงนิยมใช้เสาหงส์และธงตะขาบมาร่วมขบวนแห่คู่กัน เพราะเชื่อกันว่า หงส์ คือสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ หมายถึงแห่งผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลและอุดมสมบูรณ์
ส่วน ธงตะขาบ เชื่อกันว่า ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวมาก มีเท้ามาก มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรูที่มาระราน และรักษาตัวเองได้ เปรียบเสมือนคนมอญที่มิเคยหวาดหวั่นต่อข้าศึกศัตรู สามารถปกป้องคุ้มครองประเทศของตนเองได้เช่นกัน อีกนัยหนึ่งตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลูกมาก แม่ตะขาบจะคอยดูแลปกป้องลูกเอาไว้ในอ้อมอก เปรียบเสมือนกับว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลประชาราษฎร์ได้เหมือนตะขาบแล้ว รามัญประเทศจะเจริญรุ่งเรืองและอยู่ต่อไปอีกยาวนานด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
5. ชมขบวนแห่นางสงกรานต์และรถบุปผชาติ
...
นอกจากนี้ ยังมีขบวนแห่นางสงกรานต์ และขบวนแห่รถบุปผชาติที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ โดยในขบวนก็จะมีหนุ่มสาวแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ มาร่วมเดินขบวนกันอย่างคึกคัก เป็นการสร้างสีสันให้วันสงกรานต์ชาวพระประแดงให้ยิ่งสวยสดงดงามมากขึ้นไปอีก
6. ประกวดนางสงกรานต์
สิ่งที่อยู่คู่กับวันสงกรานต์ของชาวพระประแดงทุกปี คือ การประกวดนางสงกรานต์ แต่ละปีก็จะมีสาวงามเข้าร่วมจำนวนมาก สำหรับปีนี้ การประกวดนางสงกรานต์จัดขึ้นที่ เวทีการประกวดหน้าที่ว่าการ อ.พระประแดง สมุทรปราการ ภายในงานมีประชาชนทั่วไปสนใจเข้าชมการประกวดจำนวนมาก โดยมีสาวงามเข้าประกวดนางสงกรานต์ถึง 89 คนเลยทีเดียว
7. หนุ่มลอยชาย
...
อีกหนึ่งสีสันของสงกรานต์เมืองปากลัด ก็คือ การประกวดหนุ่มลอยชาย ซึ่งถือว่าเป็นการประกวดที่พิเศษกว่างานสงกรานต์ที่อื่นๆ ในปัจจุบัน ถือเป็นเอกลักษณ์ของสงกรานต์ที่นี่โดยเฉพาะ โดยในปีนี้มีหนุ่มลอยชายเข้าร่วมประกวดบนเวทีหน้าที่ว่าการ อ.พระประแดง สมุทรปราการ จำนวน 80 คน
8. ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา
อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในวันสงกรานต์พระประแดง คือ การทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา กิจกรรมนี้ทำสืบต่อกันมาช้านานเช่นกัน โดยมีตำนานเล่าว่า สมัยก่อนตามหนองบึงในช่วงฤดูแล้งมักจะมีปลาติดโคลนตมอยู่ตามก้นบ่อ ชาวบ้านจะช่วยกับจับปลาไปปล่อยในบ่อน้ำแห่งใหม่เพื่อต่ออายุให้ปลา เป็นการสร้างกุศลอย่างหนึ่ง
อีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า มีเณรองค์หนึ่งถูกโหรทำนายว่าชะตาขาดถึงชีวิต แต่บังเอิญระหว่างเดินทางไปเยี่ยมมารดา เณรได้พบปลาตกคลักอยู่ในหนองแห้ง เณรจึงช่วยจับปลาเหล่านั้นไปปล่อยในคูน้ำ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ ทำให้เณรพ้นจากชะตาขาดด้วยการทำบุญปล่อยปลา
สำหรับวันสงกรานต์พระประแดงจะมีการแห่ปลา โดยนำปลาใส่ในโหลร่วมในขบวนแห่ รวมถึงมีการแห่นกด้วย โดยจะนำนกใส่กรงไปร่วมในขบวน จากนั้นเมื่อถึงสถานที่ที่เหมาะสมก็จะปล่อยนกปล่อยปลาร่วมกันเป็นหมู่คณะ
9. ดูมอญเล่นสะบ้า
อีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษมากๆ สำหรับสงกรานต์พระประแดงที่หาดูที่ไหนไม่ได้ ก็คือ การเล่นสะบ้าบ่อน ซึ่งการเล่นสะบ้านี้เป็นกิจกรรมที่เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีเวลามาพบหน้ากัน ได้ทำความรู้จักกัน ในวันสงกรานต์จะเห็นสาวๆ รวมกลุ่มกันตั้งบ่อนสะบ้าอยู่ตามใต้ถุนเรือน
วิธีเล่นสะบ้า ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตั้งลูกสะบ้า เรียกว่า “จู” ให้ฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชายนั่งที่ม้านั่งตรงข้ามกับฝ่ายหญิง หัวหน้าฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน โดยโดยสะบ้าไปหาฝ่ายหญิงด้วยท่าทางลีลาต่างๆ คนเริ่มทำท่าไหน คนต่อๆ ไปต้องเล่นท่าเดียวกันจนครบทุกคน และต้องเล่นให้ลูกสะบ้าไปถูกคู่ของตน หากสะบ้ากลิ้งไปถูกสาวที่ไม่ใช่คู่ของตนถือว่าเสีย “อุย” ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตั้งรับกลับมาเล่นบ้าง
ช่วงนี้ฝ่ายชายและหญิงจะได้คุยกัน การเล่นสะบ้าอาจจะเล่นไปจนสว่างหรือค่อนรุ่ง แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมบ่อน ฝ่ายแพ้จะถูกปรับด้วยการให้รำท่าทางต่างๆ ให้ฝ่ายที่ชนะได้ชม
10. ไปกวนกาละแมสดใหม่ หอม อร่อย
การกวนกาละแม หรือที่ชาวมอญเรียกว่า ประเพณีกวันฮะกอ ถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันทุกปีในวันสงกรานต์ เพราะชาวมอญเชื่อกันว่า กาละแม เป็นขนมที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ คนช่วยกันกวนในกระทะใบใหญ่ ต้องใช้เวลานานกว่าจะกวนเสร็จ ถือเป็นขนมแห่งการสร้างความสามัคคีในชุมชนนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง น่าจะหมายถึงการได้มีกิจกรรมร่วมกัน เพราะใน 1 ปี คนในชุมชนก็ได้จะมาเจอกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันแค่เพียง 1 ครั้ง ซึ่งก็คือ ในวันสงกรานต์ โดยมาพบปะกันด้วยการมาช่วยกันกวนขนมกาละแมนั่นเอง ดังนั้น กาละแมจึงถือเป็นขนมประจำวันสงกรานต์ เป็นของดีเมืองพระประแดง ที่ห้ามพลาดไปกวนและไปชิมด้วยตัวเอง
ขอบคุณภาพ : thai.tourismthailand.org, สภ.พระประแดง, tatnewsthai.org