เซนต์ลอว์เรนซ์ คืออ่าวที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างจากขุนเขาและสายน้ำน้อยใหญ่ที่มีต้นกำเนิดอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ทั้งตะกอนน้ำชะล้างจากผืนแผ่นดิน และใบไม้ใบหญ้า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดชุมชนอันคลาคล่ำไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ส่องประกาย และล่องลอยไปกับกระแสน้ำอันรุ่มรวย และหลากหลายไม่แพ้น่านน้ำใดในโลก
หากพิจารณาในเชิงธรณีวิทยาแล้ว อ่าวแห่งนี้ถือเป็น “น้องใหม่” ในโลก ย้อนหลังไปเมื่อ 19,000 ปีก่อน อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ทั้งหมดอยู่ใต้น้ำแข็งหนาเกือบสองกิโลเมตร ต่อมาเมื่อแผ่นดินยกตัวและน้ำแข็งละลาย อ่าวก็หลากล้นไปด้วยสายน้ำและชีวิต ปลาน้ำจืดอพยพลงมาตามแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ส่วนปลาน้ำเค็ม เม่นทะเล ดาวทะเล แพลงก์ตอน และวาฬก็แห่กันมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก
เกาะเคปเบรตันแยกชายขอบทางใต้สุดของอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์จากทะเล ผืนน้ำทางตะวันออกของเกาะนั้นเย็นเยือกและปั่นป่วน ส่วนทางตะวันตก ท้องน้ำอุ่นกว่าและสงบกว่า พวกเก็บของป่าล่าสัตว์กลุ่มแรกๆ บนเกาะเคปเบรตัน คือบรรพบุรุษของชาวมิกมอ (Mi‘kmaq) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคแมริไทม์ของแคนาดา (ประกอบด้วยสามรัฐทางตะวันออก ได้แก่ นิวบรันสวิก โนวาสโกเชีย และพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์) พวกเขามาถึงอ่าวแห่งนี้อย่างน้อยราว 9,000 ปีก่อน แล้วแยกย้ายไปทั่วอาณาบริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐโนวาสโกเชีย และนิวฟันด์แลนด์ พวกเขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันอุดมตามความพอใจและความจำเป็นของชีวิต
...
ชาวประมงจากฝรั่งเศส แคว้นบาสก์ และโปรตุเกส เริ่มเข้ามาค้าขายกับคนท้องถิ่นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก ผู้มาทีหลังพากันตั้งหลักแหล่งรอบๆ ชุมชนคนพื้นเมือง เพราะพวกเขาก็ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตในอ่าวและใช้ชีวิตตามวัฏจักรที่ผันแปรของผืนน้ำแห่งนี้เช่นกัน เมื่อประชากรปลาค้อดเพิ่มขึ้น จำนวนเรือประมงก็เพิ่มตาม ครั้นวอลรัสทวีจำนวนขึ้นเหล่านักล่าก็มากขึ้นตาม
สำหรับชาวยุโรปผู้คุ้นเคยกับการจับปลาเกินขนาดในน่านน้ำแถบบ้านเกิด สรรพชีวิตในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ดูช่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก แต่การค้นพบนี้ก็ก่อเกิดคลื่นแห่งการแสวงประโยชน์ที่ถาโถมเข้ามา นั่นคือการเปิดฉากตักตวงทรัพยากรในระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกในดินแดนโลกใหม่ เริ่มจากปลานับพันๆ ตัวถูกจับ เพิ่มเป็นหลายหมื่น และไม่ช้า ก็กลายเป็นหลักล้าน พอถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด ปลาค้อด วาฬ และสัตว์ทะเลอื่นๆ ตันแล้วตันเล่าถูกจับขึ้นมาจากอ่าวแล้วส่งไปยังทวีปยุโรป ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ ประชากรสัตว์น้ำจึงเริ่มแพ้พ่าย สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีวันหมดสิ้นย่อมมีวันสิ้นสุดจนได้
ชนิดพันธุ์ต่างๆ ในอ่าวได้รับผลกระทบจากการทำประมงของชาวยุโรป (ตามมาด้วยชาวอเมริกาเหนือในเวลาต่อมา) มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดที่ถูกจับและจังหวะชีวิตของชนิดพันธุ์นั้นๆ วาฬ วอลรัส และปลาสเตอร์เจียน ล้วนเติบโตช้า นานๆ ครั้งจึงจับคู่ผสมพันธุ์ และตายตอนอายุมาก พวกมันจึงได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก เมื่อไม่นานมานี้ ประชากรวาฬบางชนิดเริ่มฟื้นตัว แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ วอลรัสยังคงหายหน้าไปจากอ่าว เว้นแต่พวกที่พลัดหลงมาจากน่านน้ำแถบมหาสมุทรอาร์กติก ส่วนปลาสเตอร์เจียนยังคงพอหยัดยืนอยู่ได้ ดังเช่นที่พวกมันเคยทำมาตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมา
ปลาหลายชนิดโตเต็มวัยเร็วกว่า ออกลูกออกหลานบ่อยกว่า และประชากรฟื้นตัวเร็วกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ แต่กระทั่งพวกมันก็อยู่ในสถานการณ์เปราะบางล่อแหลมเช่นกัน แม้ชนิดพันธุ์เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ก็จริง แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะเลี้ยงปากท้องผู้คนมากมายที่พึ่งพาอาศัยพวกมัน ทุกวันนี้ ปลาค้อดเริ่มหายาก และในบางพื้นที่ก็ถึงกับใกล้สูญพันธุ์
ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมาอ่าวแห่งนี้เป็นสถานที่ให้เราตักตวงทรัพยากร แต่ปัจจุบันสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้คนที่พึ่งพาผืนน้ำอันอุดมหามีเพียงชายหญิงในเรือประมง หากยังรวมถึงผู้บริหารของบริษัทปิโตรเลียม
แผนการขุดเจาะบ่อน้ำมันแห่งแรกในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในบริเวณที่เรียกว่า โอลด์แฮร์รี นักสิ่งแวดล้อมมองน้ำมันเป็นโศกนาฏกรรมที่ต่างไปจากเรื่องเศร้าเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับอ่าวแห่งนี้ บางทีอาจเป็นเช่นนั้น คุณอาจเห็นว่ามันเป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งในการตักตวงผลประโยชน์ของเรา เราจับปลาค้อดมาเป็นอาหารและทำน้ำมัน เติมตะเกียงเพื่อให้แสงสว่าง เราจับวาฬด้วยเหตุผลเดียวกัน ถ้าเราสูบน้ำมันขึ้นมาจากแหล่งโอลด์แฮร์รี มันจะหมดไปเร็ว กว่าวาฬหรือปลาค้อดเสียอีก แต่สุดท้ายมันจะเป็นเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันของเรา ช่วยขับเคลื่อนการเดินทางและการค้าขาย ไม่ต่างจากปลาค้อดหรือวาฬ
...
ข่าวดีคือตอนนี้เรามีโอกาสเลือกได้ ขณะที่อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ยังอุดมไปด้วยส่ำสัตว์และสรรพชีวิตอีกนับล้านๆ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝันนานา
เรื่อง : ร็อบ ดันน์
ภาพถ่าย : เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส