เป็นประจำอีกปีที่ทางสมาคมเพอรานากัน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เทศบาลนครภูเก็ต และโรงเรียนสอนทำอาหารและภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ ภูเก็ต ร่วมกันจัดงาน “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน 2557” การจัดงานแต่งงานตามแบบฉบับของชาวเพอรานากัน หรือบาบ๋า ที่สืบทอดประเพณีนี้กันมาอย่างช้านาน

หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่า "วิวาห์บาบ๋า" คืออะไร แตกต่างจากงานแต่งงานธรรมดายังไง ไทยรัฐออนไลน์ได้หาคำตอบมาให้ทุกคนได้กระจ่างกันถึงเรื่องนี้

บาบ๋า หรือ เพอรานากัน หมายถึง ลูกหลานที่เกิดจากบรรพบุรุษเชื้อสายจีนและคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตมาประมาณกว่า 200 ปี ถือเป็นการแสดงออกทางขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบาบ๋า ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง และสถานะทางสังคมของครอบครัว และเป็นหนึ่งในงานพิธีการที่สำคัญของชาวบาบ๋า

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีโบราณ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายเจ้าสาวและครอบครัว ให้มีความมั่นใจในตัวเจ้าบ่าว ที่จะสามารถดูแลเจ้าสาวอย่างมีความสุขด้วยการหมั้นหมาย เรียกว่า "ผ่างเต๋" คือ การเชิญญาติผู้ใหญ่จิบน้ำชา และ "เวียนสาดเวียนหมอน" คือ พิธีส่งตัวบ่าวสาวหอ โดยมี อึ่มหลาง คือ แม่สื่อ และ แม่การ เป็นผู้ดำเนินพิธีการต่างๆ ให้ 

...

ความพิเศษของพิธีแต่งงานบาบ๋า มีหลายอย่างด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่ชุดแต่งงานของ บ่าว-สาว ชุดของเจ้าบ่าวมีลักษณะเป็นสูทแบบฝรั่ง เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่ง และการดำเนินชีวิตของชาวพารานากัน ที่ค้าขายกับบริษัทชาวต่างชาติ ส่วนชุดเจ้าสาว จะใส่ชุดปันจูปันจัง เป็นชุดยาวที่มีความงดงามด้วยลายผ้าเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง สวมใส่เครื่องประดับประจำตระกูล ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้น หรือลูกปัด ทรงผมมีเอกลักษณ์ คือ ทรงผมเกล้าสูง มีชื่อเรียกว่า ทรงซักอีโบย และที่สำคัญ คือ เจ้าสาวต้องใส่มงกุฎทอง "ดอกไม้ไหว" ที่ทำด้วยทองคำ

นายแพทย์โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน เล่าว่า มี 3 เหตุการณ์ในชีวิตที่ชาวบาบ๋า จะต้องบอกกล่าวให้ทุกคนได้รับรู้ คือ ตอนเกิด ตอนแต่งงาน และเสียชีวิต เวลาแต่งงานก็ต้องจัดอย่างอลังการ โดยพิธีวิวาห์บาบ๋าเริ่มด้วยการที่ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจุดประทัด และเดินนำขบวนแห่มายังบ้านของเจ้าสาวเพื่อเชิญเจ้าสาวไปจัดพิธี "ผ่างเต๋" โดยในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าว จะประกอบด้วย ตะกร้าจีนเล็ก (ใส่เงินทองของมีค่า และของหมั้น) และยังมีตะกร้าจีนขนาดใหญ่ (บรรทุกรถหรือหาบภายในใส่อาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอมเซ่นไหว้) แม่สื่อจะเป็นผู้มอบของเหล่านั้นให้แก่ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง

...

ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเด็กๆ ไว้รอรับเจ้าบ่าวเข้าบ้านประกอบพิธี แม่สื่อจะจูงมือเจ้าบ่าวไปขอเจ้าสาวที่ห้องเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเด็กๆ ไว้รอรับเจ้าบ่าวเข้าบ้านประกอบพิธี แล้วก็จูงบ่าวสาวมาไหว้ฟ้าดินหน้าบ้าน เสร็จแล้วก็ไปไหว้พระ ไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นก็ทำพิธีผ่างเต๋หรือยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ พิธีกรจะประกาศชื่อญาติ พร้อมเชิญมารับน้ำชาบ่าวสาว โดยจะใช้ผ้าเช็ดหน้ากวาดที่นั่งเป็นการเชิญญาตินั่ง แล้วช่วยประคองถาดน้ำชาส่งให้ญาติ จากนั้นจิบเสร็จก็ส่งคืนพร้อมให้อั่งเปา ซึ่งญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะให้คำอวยพรในช่วงนี้ หลังจากนั้นก็จะเป็นงานเลี้ยงทั้งกลางวันกลางคืน จบงานเลี้ยงก็จะส่งตัว จากนั้นเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานของบ่าวสาว ตามพิธีการของจีน

...

นอกจากนี้ นายกสมาคมเพอรานากัน ยังกล่าวด้วยความภูมิใจอีกว่า “งานวิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และได้จัดสืบเนื่องกันมาทุกปี เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีวิวาห์ของชาวเพอรานากัน และเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ ชุดแต่งงานของบ่าวสาวและอาหารบาบ๋า โดยส่วนหนึ่งของพิธีวิวาห์ คือ พิธียกน้ำชาที่บ้านหงษ์หยก ซึ่งเป็นคฤหาสน์เก่าแก่ มีชื่อเสียงมากในภูเก็ต และถือเป็นบ้านเจ้าสาวในการจัดงานในปีนี้ โดยในปีนี้ งาน “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2557 สำหรับคู่รักที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีวิวาห์ตามธรรมเนียมของชาวเพอรานากันในครั้งนี้ สามารถสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้.