ผมเคยถ่ายภาพจากหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีช่างภาพต่างประเทศอยู่ดาษดื่น แต่ในเกาหลีเหนือ ผมมักเป็นช่างภาพเพียงคนเดียว ผมจึงตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ว่า ถ้าผมไม่ถ่ายภาพบางภาพไว้ ก็อาจไม่มีใครได้เห็นภาพนั้นเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาพจากประเทศนี้ที่เราเห็นมีแต่ภาพโฆษณาชวนเชื่อ คนส่วนใหญ่จึงมองเกาหลีเหนือเป็นเหมือนภาพหน้าฉากซึ่งทุกสิ่งล้วนเป็นการจัดฉากและไม่มีเรื่องใดที่เป็นจริง

ผมเองก็คิดเช่นนั้นตอนไปเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกเมื่อปี 2000 ทว่าตั้งแต่สำนักข่าวเอพี (Associated Press: AP) เปิดสำนักงานในกรุงเปียงยางเมื่อปี 2012 ผมได้ไปเยือนประเทศนี้มาแล้ว 25 ครั้ง และถ่ายภาพหลังฉากหลายพันภาพ แต่ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปไหนมาไหนอย่างเสรี ไม่สามารถถ่ายภาพเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือค่ายกักกันนักโทษได้ แต่งานของผมก็ไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์ ภาพเหตุการณ์ต่างๆ หลายภาพที่ผมถ่ายเป็นการจัดฉาก แต่ผู้คนเป็นของจริง ผมมองชาวเกาหลีเหมือนปุถุชนคนทั่วไปหาใช่เพียงนักแสดงบนเวทีภูมิรัฐศาสตร์ ในโลกที่แทบทุกสิ่งล้วนปรากฏในภาพถ่ายนี้ ผมมีหน้าที่ต้องเผยให้โลกรู้ว่า ชีวิตในสังคมปิดแห่งนี้มีสภาพเป็นอย่างไร

...


ในช่วงปีที่ผ่านมา เดวิดกับผมเดินทางไปยังเกาหลีเหนือเป็นประจำ เราไปชมนารวมหลายแห่ง เข้าร่วมการสวนสนามสดุดีท่านผู้นำนับครั้งไม่ถ้วน และเยือนสถานบันเทิงยอดนิยมหลายแห่งในกรุงเปียงยาง แต่ส่วนมากเรายังคงพบเห็นแต่สิ่งที่ผู้ติดตามของเรา และหน่วยงานภาครัฐอันทรงอิทธิพลที่ครอบงำอยู่เงียบๆ อนุญาตหรือยอมให้เห็นผู้ติดตามจะมารับที่สนามบินตอนเรามาถึงและพาเราไปส่งตอนขากลับ

ผู้ติดตามหลักของเราชื่อ โฮ ยอง อิล เป็นคนอัธยาศัยดี แต่จงใจเว้นระยะห่างจากเรา เขาอยู่กับเราตอนไปเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้า “ชิลเดรนส์ดีพาร์ตเมนต์สโตร์” และระหว่างพิธีสวนสนามหลายครั้งที่จัตุรัสคิม อิล ซุง เขายังไปกับเราที่ภัตตาคารและโรงงานต่างๆ “คุณโฮ” เป็นทั้งล่าม มัคคุเทศก์ และผู้รับหน้าที่ติดตามเราชนิดไม่มีวันยอมปล่อยให้คลาดสายตา ถ้าเราพยายามหลบเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยลองทำ  คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า วีซ่าของเราจะถูกเพิกถอนทันที


แม้บางครั้งการรายงานข่าวในเกาหลีเหนือจะทำให้เดวิดกับผมมีคำถามมากพอๆ กับคำตอบ แต่ก็ยังทำให้เห็นภาพที่ไม่ค่อยได้พบเห็นของโลกที่โดดเดี่ยวตัวเองมานานจากฝีมือของคนตระกูลคิม เรากำลังปะติดปะต่อช่วงเวลาอันเปราะบางและบ่อยครั้งก็ชวนให้สับสนทีละชิ้นขึ้นเป็นภาพของประเทศที่พยายามมากเสียเหลือเกินในการปิดบังตนเองจากสายตาโลกภายนอก

เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่เห็นขณะนั่งรถผ่านมักเผยอะไรมากกว่าจุดหมายปลายทาง และยังพบว่าเราสามารถจับภาพช่วงเวลาที่ไร้การเฝ้าระวังหรือจัดฉากได้จากหน้าต่างรถ และการเลี้ยวรถผิดอาจเผยรายละเอียดต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่นเมื่อคราวที่คนขับรถของเราเกิดเลี้ยวรถออกจากถนนที่ได้รับการดูแลอย่างไร้ที่ติในกรุงเปียงยาง เข้าสู่ถนนสายแคบฝุ่นตลบ เป็นหลุมเป็นบ่อ สองข้างทางเรียงรายไปด้วยอาคารไร้แสงไฟ เราออกไปเผชิญโลกนอกความเจริญ (ในระดับหนึ่ง) ของกรุงเปียงยางไปยังตัวเมืองไร้ตึกระฟ้าทันสมัย และร้านรวงในไฟสลัวมีชั้นวางสินค้าว่างเปล่าครึ่งหนึ่ง

แน่นอนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือทำงานอย่างไม่ลดละเพื่อนำเสนอภาพชีวิตที่โรงเรียนเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่อยู่ดีกินดีและมีความสุข ร้านรวงมีสินค้าเรียงรายเต็มชั้นวาง และความจงรักภักดีต่อครอบครัวคิมมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ประชาชนเรียนรู้ว่าพวกเขาควรพูดกับผู้สื่อข่าวอย่างไร นั่นคือพร่ำสรรเสริญเยินยอเหล่าผู้นำอย่างเลิศลอยเกินจริงราวกับนกแก้วนกขุนทอง


หลังจากพบปะพูดคุยทำนองนี้หลายต่อหลายครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะเชื่อภาพล้อเลียนชาวเกาหลีเหนือว่าเป็นหุ่นยนต์ยุคสตาลิน แต่ในการค้นหาความจริงที่หายากยิ่งกว่าและปกติสามัญมากกว่า คุณจะเห็นได้ถึงความกระหายในการศึกษาหาความรู้ในกรุงเปียงยางที่ซึ่งไฟฟ้ามักดับโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และการขับรถไปตามถนนตอนดึกดื่นค่อนคืน คุณอาจเห็นคนหลายสิบคนยืนอยู่ใต้แสงไฟถนนโดยมีหนังสือพิมพ์และการบ้านอยู่ในมือ บางครั้งบางคราความจริงเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือก็ซ่อนอยู่หลังฉากหน้าชวนเชื่อที่รัฐสร้างขึ้นนั่นเอง

...

“เราเป็นคนธรรมดาๆ นี่แหละครับ” พ่อค้าตลาดมืดชาวเกาหลีเหนือคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงโซลเคยบอกผม “โปรดอย่าลืมข้อนี้นะครับ คนเรามีชีวิตอยู่ แข่งกันหางานทำ และต่อสู้ดิ้นรน กิจกรรมพื้นฐานของชีวิตเหล่านี้ไม่ต่างจากที่คุณเห็นในเกาหลีใต้หรือสหรัฐอเมริกาหรอกครับ”


หรือไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ตาม.

ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์
เรื่อง ทิม ซัลลิแวน
ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย