สัปดาห์นี้สารคดีไทยรัฐออนไลน์ว่าด้วยเรื่องแนวปราการแห่งจักรวรรดิโรมันเมื่อ 2,000 ปีก่อน เป็นเหมือนฉากแอ็กชั่นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง...
เมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน จักรวรรดิโรมันได้สร้างเครือข่ายแนวปราการไปทั่วดินแดนที่พิชิตได้ ซึ่งมีทั้งปราการทางธรรมชาติและที่สร้างขึ้น เช่น กำแพง แม่น้ำ ป้อมในทะเลทราย และหอคอยสังเกตการณ์ตามภูเขา เป็นเครื่องบ่งบอกอาณาเขตของโรม ในยุครุ่งเรืองสูงสุดในศตวรรษที่สอง จักรวรรดิโรมันส่งทหารไปประจำการตามชายแดนที่กินอาณาเขตตั้งแต่ทะเลไอริชจรดทะเลดำ และทั่วแอฟริกาเหนือกำแพงเฮเดรียน (Hadrian’s Wall) ในอังกฤษ น่าจะเป็นแนวพรมแดนช่วงที่คนรู้จักดีที่สุด ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1987
ต่อมาในปี 2005 ยูเนสโกจึงผนวกกำแพงนี้เข้ากับแนวพรมแดนในเยอรมนีอีก 550 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ยังหวังว่าจะมีการผนวกพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกใน 16 ประเทศ ความพยายามในระดับนานาชาติดังกล่าวอาจให้คำตอบกับคำถามชวนฉงนข้อหนึ่งว่า ชาวโรมันสร้างกำแพงขึ้นเพราะเหตุใด เพื่อป้องกันจักรวรรดิจากการรุกรานของอนารยชน หรือเพียงเพื่อประกาศศักดาสำแดงขอบเขตทางกายภาพของจักรวรรดิเท่านั้น
ตั้งแต่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล โรมขยายแสนยานุภาพอย่างไม่หยุดยั้งเป็นเวลาถึง 600 ปี แปลงสภาพจากนครรัฐเล็กๆ ของอิตาลีในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนกลายเป็นจักรวรรดิอันเกรียงไกรที่สุดที่ยุโรปเคยรู้จัก
จักรพรรดิทราจันทรงเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดขนบแห่งการรุกรานนี้อย่างกระตือรือร้น ระหว่างปี ค.ศ. 101 ถึง 107 พระองค์ทรงทำสงครามพิชิตดินแดนที่ปัจจุบันคือโรมาเนีย อาร์เมเนีย อิหร่าน และอิรัก เมื่อจักร
พรรดิทราจันสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 117 จักรวรรดิโรมันได้แผ่ขยายอาณาเขตจากอ่าวเปอร์เซียไปจนจรดสกอตแลนด์ ทราจันทรงยกราชสมบัติและจักรวรรดิให้แก่พระโอรสบุญธรรมผู้มีนามว่า พูบลีอัส เอลีอัส เฮดรีอานัส เมื่อต้องเผชิญกับอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่โรมจะควบคุมไหว
อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากนักการเมืองและเหล่าขุนศึกให้ดำเนินรอยตามพระบิดาบุญธรรม จักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งรู้จักกันในนามเฮเดรียนจึงทรงเปลี่ยนแนวทาง
...
แอนโทนี เบอร์ลีย์ นักเขียนชีวประวัติ บอกว่า “สิ่งแรกที่ทรงตัดสินพระทัยคือทรงละทิ้งดินแดนที่ได้มาใหม่ เพื่อตัดภาระในการปกครองดูแล จักรพรรดิเฮเดรียนทรงฉลาดพอจะตระหนักว่า พระบิดาบุญธรรมทรงทำในสิ่งที่เกินกำลังของพระองค์”
นโยบายของจักรพรรดิพระองค์ใหม่เป็นการท้าทายภาพลักษณ์ของโรมอย่างถึงแก่น จักรวรรดิที่วาดหวังจะครองโลกเยี่ยงโรมันยอมรับได้อย่างไรว่า ดินแดนบางแห่งนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อม ตลอดรัชสมัยที่ยาวนาน 21 ปี จักรพรรดิเฮเดรียนเสด็จประพาสมณฑลต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยือนกองทหารทั่วทั้งสามทวีป ทุกแห่งหนที่พระองค์เสด็จเยือนจะมีกำแพงผุดขึ้นตามรายทาง เบอร์ลีย์ชี้ว่า “พระองค์ทรงส่งสารให้ทุกคนในจักรวรรดิที่ยังฝักใฝ่อยู่กับการขยายดินแดนให้รู้ว่า จะไม่มีการทำสงครามเพื่อยึดครองดินแดนอีกต่อไป”
เมื่อจักรพรรดิผู้ทรงไม่เคยหยุดนิ่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 138 เครือข่ายป้อมและถนนซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อส่งกำลังบำรุงให้กองทหารที่กำลังเคลื่อนพล ได้กลายเป็นแนวพรมแดนที่ทอดยาวหลายพันกิโลเมตร กำแพงเฮเดรียนยาว 118 กิโลเมตรในอังกฤษ สะท้อนพระประสงค์ที่จักรพรรดิเฮเดรียนทรงต้องการกำหนดขอบเขตของจักรวรรดิโรมันได้อย่างชัดเจนที่สุด แม้ว่ากำแพงนี้จะมีป้อมทหารอยู่ห่างกันเป็นระยะ แต่หลักฐานเท่าที่พบไม่ได้บ่งบอกว่า กองทหารรักษาการณ์ตามแนวกำแพงตกอยู่ภายใต้ความกดดันจากการสู้รบใดๆ ตามแนวพรมแดนอังกฤษ ถ้าเช่นนั้นแล้ว กำแพงทำหน้าที่อะไร
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีต่างลงความเห็นว่า กำแพงโรมันคือป้อมปราการทางทหารสร้างขึ้นเพื่อป้องกันกองทัพอนารยชนและผู้รุกรานต่างๆ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 นักโบราณคดีที่ศึกษาแนวพรมแดนโรมันพบว่า ม่านเหล็ก (แห่งสงครามเย็น) ที่แบ่งแยกยุโรปมีอิทธิพลครอบงำการมองอดีตอันไกลโพ้น
ซี. เซบาสเตียน ซอมเมอร์ หัวหน้าคณะนักโบราณคดีของสำนักงานอนุรักษ์แห่งรัฐบาวาเรียบอกว่า "ในเยอรมนีเอง เราเคยมีปราการกั้นเขตแดนขนาดมโหฬารซึ่งดูเหมือนไม่มีใครเล็ดลอดผ่านไปได้ แนวคิดที่แบ่งแยกเราเขา มิตรกับศัตรู วนเวียนอยู่ไม่ไปไหนไกลหรอกครับ”
ปัจจุบัน นักโบราณคดีรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถามและพินิจพิเคราะห์แนวคิดนี้กันใหม่ แนวกำแพงเฮเดรียนที่ทอดยาว 118 กิโลเมตร อาจบ่งบอกแนวคิดที่ต่างออกไปจากแนวพรมแดนโรมันอื่นๆ ชาวโรมันในภาคพื้นยุโรปใช้ประโยชน์จากสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติอย่างแม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ โดยอาศัยกองเรืออันเข้มแข็งลาดตระเวนไปตามลำน้ำ ส่วนในแอฟริกาเหนือและมณฑลทางตะวันออก ได้แก่ ซีเรีย ยูเดีย และอาระเบีย พวกเขามีทะเลทรายเป็นพรมแดนตามธรรมชาติ การตั้งค่ายทหารมักเกิดขึ้นเฉพาะกิจเพื่อเฝ้าระวังแม่น้ำหรือเส้นทางส่งสินค้าสำคัญๆ คำว่า ลีเมส (limes) ในภาษาละตินที่แปลว่าแนวพรมแดน (frontier) เดิมหมายถึงถนนหรือเส้นทางที่มีการลาดตระเวน
ค่ายหรือด่านที่อยู่ห่างไกลตามแม่น้ำ เช่น ไรน์และดานูบ หรือในทะเลทรายที่ขนาบอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของจักรวรรดิ มักมีลักษณะคล้ายสถานีตำรวจหรือหน่วยลาดตระเวนชายแดน ซึ่งคงหวังพึ่งอะไรไม่ได้หากต้องต่อกรกับกองทัพที่บุกเข้ามา แต่น่าจะมีประสิทธิภาพมากในการจับกุมผู้ลักลอบขนส่งสินค้า ไล่ล่าโจรกลุ่มเล็กๆ หรืออาจช่วยเก็บภาษีศุลกากร กำแพงที่มีทหารประจำการอยู่บางตาทั้งในอังกฤษและเยอรมนีอาจทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน
เบนจามิน ไอแซก นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ บอกว่า แนวพรมแดนเหล่านี้เหมือนสิ่งปลูกสร้างบางประเภทในปัจจุบัน มากกว่าจะเป็นป้อมค่ายกำแพงหนาแบบยุคกลาง “ดูอย่างกำแพงที่อิสราเอลสร้างกั้นเขตเวสต์แบงก์สิครับ ไม่ได้ทำไว้ป้องกันกองทัพอิหร่าน แต่เพื่อกันไม่ให้คนเข้าไประเบิดฆ่าตัวตายบนรถเมล์ในกรุงเทลอาวีฟได้ต่างหาก”
นักโบราณคดีหลายคนหันมาสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้น เดวิด บรีซ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Frontiers of Imperial Rome บอกว่า “วงการโบราณคดียอมรับการวิเคราะห์ของไอแซกอย่างกว้างขวาง การสร้างปราการกั้นเขตแดนไม่จำเป็นต้องใช้ป้องกันข้าศึกเสมอไป แต่อาจเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คนและพลเมืองก็เป็นได้”
...
ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่เหล่าจักรพรรดิแห่งโรมทรงผสมผสานหลากหลายยุทธวิธี ทั้งคุกคามข่มขู่ ขัดขวาง และติดสินบน เพื่อรักษาสันติภาพ โรมใช้วิธีเจรจาต่อรองกับชนเผ่าและอาณาจักรอื่นๆ ที่อยู่นอกแนวพรมแดนอยู่เนืองๆ กุศโลบายทางการทูตได้สร้างดินแดนกันชนของกษัตริย์ผู้ต้องพึ่งใบบุญของโรมและหัวหน้าเผ่าที่จงรักภักดี ให้ทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันแนวพรมแดนจากชนเผ่าอนารยชนที่อยู่ไกลออกไป
แต่ความสงบสุขก็ไม่ยั่งยืน นับจากปี ค.ศ. 230 สงครามระหว่างสองมหาอำนาจจักรวรรดิโรมันและเปอร์เซียได้เปิดฉากขึ้นและลุกลามไปทั่วดินแดนเมโสโปเตเมีย ในไม่ช้าก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ยุทธศาสตร์แนวพรมแดนที่โรมใช้มานานกว่าร้อยปีไม่อาจต้านทานกองทัพศัตรูที่มีขนาดใหญ่และกัดไม่ปล่อยได้
เป็นเวลาเกือบ 150 ปีที่ชายแดนเหล่านี้ “ปิดหูปิดตา” โรมจากความเป็นจริงอันน่าเจ็บปวด นั่นคือ โลกภายนอกกำแพงกำลังไล่ทันโรมมาติดๆ ระหว่างที่โรมนิ่งนอนใจ เหล่าอนารยชนกลับเข้มแข็ง ดุดัน และร่วมมือกันมากขึ้น เมื่อโรมจำต้องถอนทหารจากทั่วจักรวรรดิเพื่อต้านทัพเปอร์เซีย บริเวณที่เป็นจุดอ่อนในเยอรมนีและโรมาเนียก็ถูกโจมตีเกือบจะในทันควัน
จักรวรรดิโรมันไม่มีวันอยู่รอดปลอดภัยภายในกระดองอีกต่อไป ในที่สุดความกดดันตามแนวพรมแดนก็รุนแรงเกินต้านทาน จักรพรรดิโรมันพระองค์แล้วพระองค์เล่าทรงดิ้นรนต่อสู้กับการรุกรานที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามและความวุ่นวายต่างๆ ทำให้จักรวรรดิค่อยๆ เสื่อมลง และภายใน 200 ปี จักรวรรดิที่เคยครอบครองดินแดน กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็ถึงกาลล่มสลาย
เรื่อง แอนดรูว์ เคอร์รี ภาพถ่าย โรเบิร์ต คลาร์ก ข้อมูลจากเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เว็บไซต์ http://www.ngthai.com/ngm/1209/default.asp
...