ในคู่มือท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ทุกสำนักจะระบุเกือบเหมือนๆกันว่า 5 สถานที่ที่ควรไปเยือนเมื่อไปถึงโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่...

1.ปราสาทโอซากา หรือ Osaka Castle สัญลักษณ์ของเมืองอายุกว่า 440 ปี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปราสาทโด่งดังของญี่ปุ่น

2.สวนสนุกยูนิเวอร์แซล หรือยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เจแปน ซึ่งเป็นขวัญใจไม่เฉพาะเด็กญี่ปุ่นเท่านั้นยังเป็นขวัญใจเด็กเอเชียอีกด้วย

3.พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอซากา (ไคยูคัง) หรือ Osaka Aquarium Kaiyukan

4.ตึกอูเมดะสกาย (Umeda Sky Building) ตึกสูงระฟ้าสูง 173 เมตร ที่เมื่อขึ้นไปแล้วจะเห็นตัวเมืองโอซากาทั้งเมือง

ส่วนอันดับ 5 นั้น จริงๆแล้วจะอยู่อันดับ 1 หรือ 2 ด้วยซ้ำ ได้แก่ แผ่นป้ายโฆษณาขนม “กูลิโกะ” ที่เป็นรูปนักกีฬากางแขนขณะวิ่งเข้าเส้นชัย ซึ่งประดับอยู่ ณ ย่านช็อปปิ้ง+อาหาร+ ท่องเที่ยว ที่เรียกว่า โดทงโบริ อันสว่างไสวและสนุกสนานครึกครื้นตลอดวันยันเที่ยงคืนนั่นเอง

ทีมงานซอกแซกจึงขอถือโอกาสที่จะเขียนถึงเป็นอันดับแรกเพื่อให้สมกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า...เจ้าป้าย “กูลิโกะ” นี่แหละที่เป็นสัญลักษณ์ (แบบแอบแฝง) ตัวจริงเสียงจริงของโอซากา ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเยือนจะต้องมา “เช็กอิน” ถ่ายรูปไว้เป็นการยืนยันว่าฉันไปถึงโอซากาเรียบร้อยแล้ว

รวมทั้งทีมงานซอกแซกด้วย เพียงคืนแรกของวันที่ไปถึงเราก็ชวนกันขึ้นรถไฟฟ้าจากบ้านไปลงสถานีใต้ดินที่ใกล้ที่สุดแถวๆนั้นพร้อมกับไปยืนคารวะรายงานตัวพร้อมถ่ายรูปทันที

จริงๆแล้วโอซากาเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมผลิตสินค้าโด่งดังระดับโลกหลายๆ ยี่ห้อ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า “พานาโซนิค” และ “ชาร์ป” ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวคนไหนไปเดินหาป้ายโฆษณาของ 2 ยี่ห้อนี้

...

ในทางตรงข้ามกลับแห่ไปที่ป้าย “กูลิโกะ ป๊อกกี้” แสดงว่าต้องมีอะไรดีๆที่ประทับใจนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างแน่นอน

ตามประวัติที่มีการบันทึกไว้ ระบุว่าเมื่อ ค.ศ.1919 หรือ พ.ศ.2462 หรือเมื่อ 105 ปีที่แล้ว บุรุษญี่ปุ่นนามว่า ริอิจิ เอซากิ ได้ค้นพบสาร ไกล โคเจน ในน้ำต้มหอยนางรม และเชื่อกันว่ารักษาโรค บางโรคได้ โดยเฉพาะโรคไข้รากสาดที่ลูกเขาเคยป่วยแล้วให้รับประทานน้ำต้มสารดังกล่าวนี้

นายเอซากิจึงมีความคิดที่จะใช้น้ำผสมสาร ไกลโคเจน ไปเป็นส่วนสำคัญของการทำขนมขาย และได้ออกสินค้าตัวแรกชื่อ “กูลิโกะ คาราเมล” ที่เขาเรียกมันว่าขนมหรืออาหารสุขภาพ ใช้รูปวาดนักกีฬาชูมือ 2 มือวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นสัญลักษณ์พิมพ์ไว้ที่ข้างกล่องขนมตั้งแต่ ค.ศ.1921 หรือ พ.ศ.2464 หรือเมื่อ 103 ปีที่แล้วเป็นต้นมา

“กูลิโกะ” ก็แผลงมาจากสารไกลโคเจน (Glycogen) นั่นเอง...เขาตั้งชื่อให้อิงๆกับสารเพื่อสุขภาพอย่างตั้งใจว่างั้นเถอะ

เขาส่งสินค้าไปวางขายที่ห้าง “มิตสึโกชิ” ซึ่งเป็นห้างระดับหรูของโอซากา เพื่อเพิ่มระดับให้ดูสูงขึ้นควบคู่ไปกับการวางขายตามร้านทั่วๆไป พร้อมกับปรับปรุงสูตรไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็ขายดีมากถึงขนาดไปตั้งสาขาที่ โตเกียว ได้ใน ค.ศ.1936 หรือ พ.ศ.2479 แล้วยังขยายไปถึงประเทศจีนอีก 1 โรงงาน

ทว่า...เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาหลังจากนั้นซึ่งญี่ปุ่นของเขาเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นต้นเหตุของสงคราม และพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพันธมิตรดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว

โรงงานขนมของเขาถูกระเบิดเกลี้ยงหมด ไม่ว่าจะเป็นที่โอซากา, โตเกียว และที่ประเทศจีน ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นาย เอซากิ จึงเท่ากับเหลือ “ศูนย์” ไม่มีสมบัติพัสถานใดๆเลย นอกจากสูตรและความรู้ในการทำขนม “กูลิโกะ คาราเมล” ที่ยังอยู่ในสมองของเขาครบถ้วน

เมื่อสงครามสงบเขาก็กลับมาเปิดโรงงานใหม่ที่โอซากาอีกครั้งตามมาด้วยโรงงานที่โตเกียว ทั้งผลิตสินค้าตัวเองและรับผลิตขนมปังให้บริษัทอื่นๆจนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

มาประสบความสำเร็จสูงสุดที่ “กูลิโกะ ป๊อกกี้” เจ้าขนมปังแท่งเล็กๆชุบช็อกโกแลตนี่เอง ขายดีทั้งในญี่ปุ่น ในเอเชียไปจนถึงแคนาดา ฝรั่งเศส และอเมริกาในที่สุด

สำหรับในประเทศไทยมีโรงงานผลิตกูลิโกะ 2 แห่งด้วยกัน แห่งแรกอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ปทุมธานี และแห่ง 2 อยู่ที่รังสิต ปทุมธานี เช่นกัน

ปี ค.ศ.1998 หรือ พ.ศ.2541 บริษัทกูลิโกะ ไปเปิดป้ายโฆษณารูปนักวิ่งรายนี้ที่ย่าน โดทงโบริ (Dotonbori) ริมฝั่งแม่น้ำสายเล็กๆชื่อเดียวกันนี้ข้างๆสะพาน อิบิซึบาชิ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 1 ในสัญลักษณ์ของเมืองที่ใครๆ (ที่เคยกินกูลิโกะ ป๊อกกี้) จะต้องไปถ่ายรูปด้วย

นับมาถึงวันนี้มีการเปลี่ยนแผ่นป้ายไปแล้ว 6 ครั้ง, โดยป้ายปัจจุบันซึ่งเป็นป้ายที่ 6 นั้นจัดทำในระบบ LED อย่างเต็มตัว

เมื่อปี ค.ศ.1999 หรือ พ.ศ.2542 บริษัทกำหนดให้วันที่ 11 พฤศจิกายน เป็นวัน “ป๊อกกี้” ด้วยเหตุผลด้านการตลาด แต่ก็ได้รับการยอมรับจากแฟนๆสาวกกูลิโกะทั่วโลกอย่างเป็นเอกฉันท์ และในปี 2019 หรือ พ.ศ.2562 (ปีโควิดระบาดปลายๆปีนั่นแหละ) ยอดขายกูลิโกะทั่วโลกสูงสุดถึงเกือบ 590 ล้านดอลลาร์ คว้าแชมป์อันดับ 1 ประเภทบิสกิตของโลกไปครองอย่างขาดลอย

เคยมีการประมาณการว่าปีหนึ่งๆยอดขายกูลิโกะทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศจะอยู่ที่ 500 ล้านกล่องต่อปี ซึ่งเมื่อขายดีถึงขนาดนี้แล้ว ย่อมจะมีสาวกหรือแฟนคลับมากมายทั่วโลกหลายๆร้อยล้านคนอย่างแน่นอน

จึงไม่แปลกอะไรที่บรรดาสาวกเหล่านั้น จะพากันไปคารวะและถ่ายรูปเช็กอินไว้เมื่อไปถึงบ้านเกิดของกูลิโกะที่โอซากา (รวมทั้งทีมงานซอกแซกด้วย) ด้วยประการฉะนี้แล.

...

“ซูม”