เขียนถึง “สวนหลวง ร.10” ที่รัฐบาลปัจจุบันและกรุงเทพมหานครจะร่วมกันปรับปรุง “บึงหนองบอน” เพื่อถวายเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ยังมีอีก “สวนหลวง” หนึ่งที่สร้างเสร็จมานานแล้ว และประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์มากว่า 10 ปีแล้ว...แต่ “คอลัมน์” นี้ ยังมิได้เขียนถึงมาก่อนเลย

ได้แก่ “สวนหลวง พระราม 8” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงสะพาน พระราม 8 ฝั่งธนบุรี...สวนที่มีขนาด 35 ไร่ แม้จะไม่ใหญ่โตจนเกินไปนัก แต่ก็มีขนาดกว้างพอสมควร มีความร่มรื่น และมีบรรยากาศที่ยอดเยี่ยม เพราะอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยายาวไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร มีลมพัดโชยผ่านสวนอยู่ตลอดเวลา

อีกทั้งยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวงรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง ใน พระอิริยาบถทรงยืนประดิษฐานบนแท่นสูง สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และโดดเด่นเป็นสง่า ขณะนั่งเรือล่องไปตามลำนํ้าเจ้าพระยาอีกด้วย

ที่สำคัญเมื่อย้อนอดีตไปสู่ยุคต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของ “สวนหลวงพระราม 8” แห่งนี้ ซึ่งเรียกว่าย่าน “บางยี่ขัน” เคยเป็นที่ตั้งของ “โรงเหล้า” หรือโรงต้มกลั่นสุราของยุคโน้นที่ “สุนทรภู่” กวีเอก แต่งเป็นบทกลอนใน “นิราศภูเขาทอง” เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณนี้... และทุกวันนี้บทกลอนดังกล่าวก็ยังกึกก้องอยู่ในความทรงจำของคนไทย

ได้แก่บทที่ว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย” นั่นเอง

...

หลายตำนานกล่าวว่า บริเวณนี้เป็นที่ตั้งโรงงานต้มเหล้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ด้วยซ้ำ ก่อนที่ท่าน “สุนทรภู่” จะแต่งนิราศภูเขาทองในสมัยรัชกาลที่ 3 และก็ใช้เป็นที่ตั้งโรงกลั่นสุรามาทุกรัชกาลเคียงคู่กรุงรัตนโกสินทร์ตลอดมา รวมถึงล่าสุดก็คือ โรงงานสุราบางยี่ขัน เจ้าตำรับ สุรา “แม่โขง” นั่นเอง

จนถึงยุครัชกาลที่ 9 จึงมีการย้ายโรงงานออกไปตั้งใหม่ที่ตำบลบางคูวัด จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่ ณ บริเวณ “บางยี่ขัน” ที่เคยมีควันไฟจากโรงเหล้าโขมงมาทุกยุคทุกสมัย ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชิง สะพานพระราม 8 ในที่สุด

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และก่อสร้างเสร็จเปิดใช้ได้เมื่อ พ.ศ.2545 เป็นต้นมา

พร้อมกับใช้เนื้อที่บริเวณสะพานพระราม 8 ด้านฝั่งธนบุรีที่เหลือในการจัดทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ควบคู่ไปด้วย โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการในเวลาใกล้เคียงกัน

ต่อมาได้มีการก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ขึ้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้น และในวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมราธิบดินทร และ “สวนหลวง พระราม 8” อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ บริการดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน

จากความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในประวัติ ศาสตร์มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นแรงบันดาลใจแก่ทีมงานซอกแซกที่จะหาโอกาสมาเยือนสวนแห่งนี้ตั้งแต่สร้างเสร็จใหม่ๆโน่นแล้ว

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมิได้มาเยือนอย่างเป็นเรื่องราว...แม้จะมีโอกาสนั่งรถข้ามสะพาน พระราม 8 และมองเห็นสวนสาธารณะแห่งนี้จากสะพานไม่รู้กี่ร้อยครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เพิ่งมาได้โอกาสเหมาะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 นี่เอง หัวหน้าทีมซอกแซกไม่รอช้าชวนทีมงานขับรถข้ามสะพานพระราม 8 อีกครั้งแล้วก็ไปลงก่อนถึงถนนอรุณอมรินทร์ย้อนกลับมาที่บริเวณเชิงสะพานอีกหน พร้อมกับหาที่จอดรถได้ในบริเวณเชิงสะพานหน้าสวนนั่นเอง

เพิ่งจะบ่าย 3 โมงเท่านั้น เริ่มมีพี่น้องประชาชนย่านฝั่งธนบุรีมาวิ่งออกกำลังกันแล้ว โดยวิ่งไปตามถนนรอบๆสวนไปสู่บริเวณริมนํ้าเจ้าพระยา และวิ่งต่อไปทางด้านใต้ จนถึงบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8

หัวหน้าทีมซอกแซกใช้วิธีเดินช้าๆ เลาะริมนํ้าไปเรื่อย เหนื่อยก็นั่งพัก เพราะมีศาลาริมนํ้า สร้างเป็นระยะๆติดต่อกันไปหลายหลัง และทุกหลังนั่งได้เลย เพราะมีลมโกรกเข้ามาเย็นฉํ่าพอๆกัน

มองข้ามฝั่งไปจะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย วัดสามพระยา จนถึงป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ และเมื่อมองกลับมาทางฝั่งสวนก็จะเห็นพระบรม ราชานุสาวรีย์ ร.8 โดดเด่นเป็นสง่า หน้าตึกอาคาร สำนักงานโครงการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสใช้เนื้อที่ที่เคยเป็น “โรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” ในอดีตแห่งนี้

ทีมงานซอกแซกใช้เวลาอยู่ที่ศาลาริมนํ้าเกือบครึ่งชั่วโมง นั่งรับลม และชมวิวรอบๆซํ้าแล้ว ซํ้าเล่า ก่อนจะลุกขึ้นอำลาด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง เพราะยังมีนัดหมายอื่นๆรออยู่อีก

...

ก็ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนส่งท้ายว่า...มีเวลาว่างวันไหนไปถ่ายรูป “เช็กอิน” และนั่งกินลมชมวิว หรือจะวิ่งหรือเดินก็ได้ ที่ “สวนหลวง พระราม 8” เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี กันสักครั้ง

ภาพที่สวยที่สุด ภาพหนึ่งที่ต้อง “เซลฟี่” ไว้ให้ได้คือ ภาพตัวเรากับ “ตัวสะพานพระราม 8” ที่ในทางวิศวกรรมศาสตร์ เขาเรียกสะพานที่สร้างในลักษณะนี้ว่า “สะพานแขวนแบบอสมมาตร” ยาวเป็นอันดับที่ 5 ของโลกเชียวนะครับ...จะบอกให้!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม