โลกในปัจจุบันกำลังถูกคุกคามด้วยภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน และการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยจึงหันมาสนใจกับการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด Sustainability ที่เน้นความยั่งยืนของระบบนิเวศและธรรมชาติ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ

ล่าสุด เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผอ.ส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย ประธานกรรมการผู้จัดการ เลิฟอันดามัน และบริษัทบัตรเครดิต เคทีซี นำเสนอการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ภายใต้แฮชแท็ก #GLOรักษ์โลก #GLOZerowaste

เปิดตัวทริปแรกกับ “เรือฉลามวาฬ” ซึ่งเป็นเรือ Speed Catamaran ขนาด 2 ท้อง 4 เครื่องยนต์ ที่ปรับขนาดความจุจาก 75 ที่นั่งให้เหลือ 44 ที่นั่ง เพื่อความสะดวกสบายกว่าเดิม

สตางค์-ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย ผู้เปิดตำนานเกาะตาชัยให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับต้นๆของเอเชียมาแล้ว เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบเรือฉลามวาฬ ว่า เราเลือกฉลามวาฬเพราะว่าน้องคือสัตว์ทะเลยักษ์ใหญ่ใจดีของท้องทะเลอันดามันและเรือลำนี้ก็เป็นเรือสองชั้นลำใหญ่ลำแรกของบริษัทเลิฟอันดามัน ก็เลยอยากให้ฉลามวาฬเป็นตัวแทนของการสื่อสารถึงความรักที่เรามีต่อสัตว์ทะเล และทะเลอันดามันไปพร้อมๆกัน เพื่อให้คนที่ได้พบเห็นตระหนักถึง การท่องเที่ยวทางทะเล ยังมีสัตว์ทะเลที่อยู่ใต้น้ำอีกเป็นล้านล้านชีวิต ที่เราเองก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบทุกครั้งเมื่อออกมาท่องเที่ยวด้วยกัน

...

ประธานกรรมการผู้จัดการ เลิฟอันดามัน บอกว่า เราอยากให้การล่องเรือกับฉลามวาฬเป็นการท่องเที่ยวแนวรักษ์โลก ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การที่เราทำคอลเลกชันเรือออกมาให้เป็นลายสัตว์ทะเล ก็เพื่อให้ทุกคนได้มีความผูกพันกับสัตว์ทะเลมากขึ้น เมื่อรู้จักกันแล้ว ก็จะมีความรักและความหวงแหน

“ในทริปท่องเที่ยวกับฉลามวาฬ เราจะสื่อสารให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีถ้าเราทิ้งขยะลงในทะเลจะใช้เวลาย่อยสลายกี่ปี โดยมีข้อความติดที่ด้านหลังยูนิฟอร์มของพนักงานเลย” สตางค์บอกพร้อมกับบอกว่า ใครที่เคยท่องเที่ยวกับเลิฟอันดามันจะรู้ว่าไกด์และลูกเรือของเราจะได้รับการเทรนด์มาอย่างดีในการให้ข้อมูลเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่คราวนี้ก็จะได้รู้เรื่องราวของเจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดี ที่ในแต่ละปีมีจำนวนลดน้อยลงมาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูงจากการกินเศษพลาสติกหรือขยะที่ตกค้างอยู่ในทะเล

สำหรับเรือฉลามวาฬ ถือเป็นเรือน้องใหม่ล่าสุดของเลิฟอันดามัน ที่ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ท้องทะเล ตั้งแต่สีและลายเส้นที่ถ่ายทอดเป็นลายเรือสัตว์ทะเล ซึ่งเลิฟอันดามันเป็นตัวแทนที่ใช้การออกแบบเพื่อสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้มาพบเห็นและเข้าใจถึงเรื่องราวเหล่านี้ นอกจากนี้ ท้ายเรือยังมีแพนท้ายเรือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นลงเรืออย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆที่เลือกใช้เรือที่มีแพนท้าย และสำคัญที่สุดคือ เลือกใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ ที่ไม่ทิ้งคราบน้ำมันลงทะเลด้วย

...

เราเดินทางกับทริปฉลามวาฬด้วยความอิ่มเอมใจ นอกจากตัวเรือและคอนเซปต์ที่ชัดเจนแล้ว ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง น้องๆไกด์ และทีมงานจะคอยให้ข้อมูลถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งปะการัง ปลานกแก้ว ไปจนถึงการเลือกใช้ครีมกันแดด

เอมมี่...ไกด์ร่างใหญ่หัวใจสาวงาม บอกกับพวกเราว่า ปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถสร้างหาดทรายและผืนทรายใต้ท้องทะเลได้ถึงปีละ 9 กิโลกรัม จากการขับถ่ายออกมาเป็นทราย ไม่รวมการที่น้องๆปลานกแก้วจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของสาหร่ายบนแนวปะการัง ที่มีส่วนทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงและอาจทำให้ปะการังตายได้ นอกเหนือจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่แล้ว

...

ส่วนครีมกันแดด เธอบอกว่า บริษัทของเธอเน้นมากที่จะไม่ให้มีการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารที่ทำลายปะการัง เช่น Oxybenzone หรือ Benzophenon, Octinoxate หรือง่ายๆก็คือ แนะนำนักท่องเที่ยวให้ใช้ครีมกันแดดที่มีคำว่า “reef-safe”, “Ocean Friendly”, หรือมีตราสัญลักษณ์ “Protect Land & Sea” ที่ข้างขวดเท่านั้น

...

ทั้งนี้ เรื่องนี้เคยมีงานวิจัยโดย Downs และคณะ เพื่อองค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และองค์กรอื่นๆในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่าปะการังอ่อนที่สัมผัสกับสาร Oxybenzone และ Octinoxate ที่มีในสารกันแดดแสดงออกถึงภาวะเครียด โดยมีสีซีดจางลง ทำให้ปะการังติดเชื้อได้ง่ายและไม่สามารถได้รับสารอาหารได้เต็มที่อย่างที่เคย อีกทั้งสารทั้งสองชนิดยังสร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ แถมทำให้โครงสร้างปะการังเจริญเติบโตผิดปกติด้วย และในแต่ละปีแทบไม่น่าเชื่อว่ามีครีมกันแดดถึง 6,000 ตันตกค้างอยู่ในทะเลทั่วโลก โดยจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวมาว่ายน้ำหรือดำน้ำดูปะการังเป็นส่วนใหญ่

สุดท้าย การเที่ยวทางทะเลไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำอาหารหรือขนมปังไปให้ปลา เพราะจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย ส่งผลถึงชีวิตของทั้งสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่ควรจะอยู่คู่กับทะเลเพื่อเป็นความสวยงามของโลกต่อไปนานๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม