เมื่อวันศุกร์และเสาร์ที่ 16–17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสไปร่วมชมงาน “เทศกาลบอลลูนนานาชาติ 2567” ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ณ บริเวณสวนเกษตร เนื้อที่ 8,000 ไร่ “สิงห์ปาร์ค” จังหวัดเชียงราย

จำไม่ได้แล้วว่า บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ฯ ได้จัดงานมหกรรมนี้มาตั้งแต่เมื่อใด? และจัดมากี่ครั้งแล้ว? จำได้เฉพาะที่หัวหน้าทีมมีโอกาสไปร่วมงานด้วยนั้น นับได้เป็นครั้งที่ 4 แล้วในปีนี้

แม้ว่ารูปแบบของการจัดงานจะเหมือนๆเดิม คือเน้นไปที่การแข่งขันและการแสดงของ “บอลลูน” ระดับนานาชาติ ที่จะเดินทางมาร่วมแข่งขันและร่วมแสดงกว่า 10 ประเทศและด้วยลูกบอลลูนไม่ต่ำกว่า 30 ลูกในทุกๆปี

จุดเด่นประการหนึ่งของการจัดงานนี้ก็คือ เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด จึงเลือกที่จะให้ตรงกับช่วง “วันวาเลนไทน์” หรือ “วันแห่งความรัก” เพื่อที่จะจัดให้ “คู่รัก” ที่ขันอาสาจำนวนหนึ่งขึ้นไปบอกรักกันบนฟ้า หลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วในภาคพื้นดิน

ทั้งนี้ก็เพื่อให้จังหวัดเชียงรายได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นจังหวัดที่จดทะเบียนสมรสบนฟ้า ในทำนองเดียวกับการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างของจังหวัดสุรินทร์ หรือการจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลของจังหวัดตรัง

หลังจากพิธีการจดทะเบียนสมรส หรือบอกรักบนฟ้าผ่านไป ก็จะเข้าสู่การแข่งขันและ การประกวดบอลลูนนานาชาติ รวมถึงการจัดแสดงมหกรรมแสง สี เสียง คล้ายบอลลูนเริงระบำ คือจะนำลูกบอลลูนหลากสีจำนวนหนึ่งมาแสดง ร่วมกันกลางแสงไฟและเสียงดนตรี ซึ่งจะจบลงด้วยการจุดพลุส่งท้ายสวยงามตระการตา...ในทุกๆค่ำคืนเวลาประมาณ 20 นาฬิกาเป็นต้นไป

...

เมื่อจบงานแสดงบอลลูนก็จะเริ่มแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งจะเชิญวงดังระดับประเทศปีละนับสิบวงไปขึ้นเวทีแสดง จนถึงเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน จึงเป็นอันจบ “งาน” ของแต่ละวันในเทศกาลบอลลูนที่สิงห์ปาร์ค

จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปี หลังนี่เอง ผู้บริหารของบุญรอดบริวเวอรี่ฯ ท่านหนึ่งที่ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เยาว์วัย ก็เสนอความคิดว่าควรจะมีการแสดง “โขนกลางแปลง” ขึ้นด้วยในงานนี้

เนื่องเพราะพื้นที่อันกว้างขวางของสิงห์ปาร์ค ซึ่งมีภูเขาเรียงรายเป็นแถวอยู่เบื้องหลังนั้น เปรียบเสมือน “ฉากธรรมชาติ” ที่งดงามเหมาะสำหรับการแสดงโขนกลางแปลงเป็นที่สุด

อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสดีของพี่น้องชาวเหนือ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ตามไปดูเทศกาลบอลลูน หรือคอนเสิร์ตวงต่างๆจะได้รับชม “ศิลปะชั้นสูง” ของไทยเราควบคู่ไปด้วย

เจ้าของแนวความคิดในเรื่องนี้ได้แก่ คุณ อิสระ ขาวละเอียด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของบริษัท ซึ่งมีใจรักศิลปะการแสดงโขนเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เรียน มหาวิทยาลัย

หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์ สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู ข้าราชการ บำนาญผู้เชี่ยวชาญด้านโขนละครในสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทเพราะมีรสนิยมเดียวกัน ว่าหากจะจัดให้มีการแสดง ณ สิงห์ปาร์ค ด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่?

เมื่อได้รับคำตอบว่า “เป็นไปได้แน่นอน” ทั้ง 2 จึงเสนอขออนุมัติต่อคุณ สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบุญรอดฯ ซึ่งก็ได้พยักหน้าอนุมัติให้ก่อนที่จะทำหนังสือขออย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียด้วยซ้ำ

เป็นที่มาของคณะโขน “กลุ่มศิลปินวังหน้า” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือสถาบันพัฒนาศิลป์ในปัจจุบัน โดยความร่วมมือของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชียงใหม่ ระดม ผู้แสดง ผู้พากย์โขน และวงปี่พาทย์กว่า 100 ชีวิตออกโรงแสดงครั้งแรก ณ สิงห์ปาร์ค เมื่อปีก่อนโน้น

จากนั้นก็ต้องหยุดจัดงานบอลลูนไประยะหนึ่ง เพราะโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก น่าจะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพิ่งจะกลับมาจัดใหม่ได้อีกครั้งในปี 2567 พร้อมแถลงว่า จะมีการแสดงโขน กลางแปลงอีกครั้ง

หัวหน้าทีมซอกแซกซึ่งรอคอยมาหลายปีจึงตอบรับคำเชิญของบริษัท บุญรอดฯ ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง เพราะตั้งใจจะไปดู “โขนกลางแปลง” นี่แหละครับ จึงขอไปในวันที่ 16 และ 17 ก.พ. ซึ่งจะมีการแสดงโขนติดต่อกัน 2 วัน

คณะกรรมการจัดงานแถลงว่า โขนกลาง แปลงของงานบอลลูนปีนี้จะเป็นชุด “พระจักรีทรงกลด ปฐมบทรามเกียรติ์” อันเป็นตอนที่ว่าด้วย พระนารายณ์ ปราบ นนทก แล้วท้าทายมาสู้รบกันต่อในโลกมนุษย์ โดยฝ่ายหนึ่งจะไปเกิดเป็นพระราม และฝ่ายนนทกไปเกิดเป็นทศกัณฐ์

ท่านอาจารย์ สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู กรุณาออกมาเป็นพิธีกรลำดับเรื่องให้ทราบก่อนล่วงหน้าพอสังเขป จากนั้นก็ปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงบทต่างๆ ได้อย่างสนุกสนานในองก์แรก ซึ่งเป็น เหตุการณ์บนสรวงสวรรค์ และการอาละวาดของนนทก จนพระนารายณ์ต้องมาปราบแล้วท้าทายไปสู้กันใหม่ในโลกมนุษย์ดังกล่าว

พอเริ่มองก์ 2 ท่านก็ตัดภาพมาตอนยกรบเลยให้กองทัพลิงภายใต้การนำของพระรามออกมาสู้กับกองทัพยักษ์ของทศกัณฐ์ด้วยบทบาทลีลาเดียวกับที่เราเห็นในเวทีโขนต่างๆจะผิดแผกไปและได้รสชาติมากกว่าก็ตรงที่เป็นการสู้รบในสนามหญ้าและมีฉากผืนใหญ่ที่คอยฉายสไลด์เป็นรูปโน่นนี่อยู่เบื้องหลัง

หลังจากสู้รบจบขบวนท่าแล้ว ทศกัณฐ์ก็ขอยุติการรบชั่วคราว บอกว่าพรุ่งนี้ค่อยมารบกันใหม่...ฝ่ายพระนารายณ์ก็ตอบว่าไม่เป็นไร อย่าว่าแต่พรุ่งนี้เลย ปีหน้าเราค่อยมารบกันใหม่ก็ได้

เรียกเสียงปรบมือกราวใหญ่จากผู้ชม เพราะเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันว่า เทศกาลบอลลูนปีหน้าโขนคณะนี้จะยกพลมาสู้รบกันอีกอย่างแน่นอน

...

ขอบคุณบริษัท บุญรอดฯ ที่ไม่ลืมศิลป วัฒนธรรมไทย และให้คำมั่นสัญญาว่าจะสืบสานและสนับสนุนสืบต่อไปนานเท่านาน

สรุปว่า “วาเลนไทน์” ปีหน้าโขนกลางแปลงชุดนี้จะมารบกันที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย อีกครั้ง แต่ก่อนจะรบฝากให้มีฉากรักบ้าง เพื่อให้เข้าบรรยากาศ “วาเลนไทน์”...และจะให้ดีมีสักตอน ไหมครับ ที่จะให้พลลิงหรือพลยักษ์ก็ได้ เหาะเหินเดินอากาศ โดยใช้บอลลูนเป็นยานพาหนะ ฝากไว้ด้วยนะครับ ท่านอาจารย์สุรเชษฐ์ครับ!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม