เปิดแนวคิดไอเดียไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่เป็นไวรัลจนนักท่องเที่ยวในไทย และต่างประเทศแห่กันไปลิ้มลองรสชาติพร้อมนัยที่คอยเติมสีสันใหม่ให้แก่การท่องเที่ยวไทย

จากกระแสฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีไอศกรีมสามมิติ ลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ที่เป็นไวรัลบนโลกโซเชียล ด้วยเหตุการณ์นี้เองนอกจากจะเป็นการปลุกกระแสนักท่องเที่ยวให้อยากเดินทางไปเยี่ยมเยือนวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารแล้ว ยังทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยัง ARUN CAFE เพื่อที่จะไปลิ้มลองรสชาติของไอศกรีมสามมิตินี้ด้วยเช่นกัน

ไอศกรีมสามมิติลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ได้ถูกนำมาขายในร้านที่ชื่อว่า 'ARUN CAFE อรุณคาเฟ่ กาแฟเพื่อสวัสดิการ' เป็นร้านกาแฟสวัสดิการของวัดอรุณฯ เพื่อที่จะนำรายได้ไปเป็นกองทุนสวัสดิการของวัดในด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งยังเป็นค่าพยาบาล และสาธารณประโยชน์ของวัด 

ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ คุณตาล เจ้าของเพจ Pop Icon ไอติม 3 มิติ และเจ้าของไอเดียไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่าตนเองเป็นอดีตนักการตลาด ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เต็มตัว

...

แรงบันดาลใจ และที่มาของไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ 

จากความหลงใหลสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งกลายเป็นไอเดียสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

“ตาลเอง เป็นคนชอบทานไอศกรีมอยู่แล้ว ด้วยความฝันที่อยากเป็นคนขายไอศกรีม ผนวกกับการเป็นคนที่สนใจ และชื่นชอบการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมเลยอยากนำแพสชันทั้ง 2 อย่างนี้มารวมกัน”

ชื่อของไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ นั้นถูกตั้งว่า ‘Flower of Dawn’ ถูกนำมาล้อกับชื่อของวัดอรุณฯ ที่มีชื่อว่า ‘Temple of Dawn’ โดยการนำชื่อของไอศกรีมมาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และสร้างสิ่งสนใจใหม่ที่ไม่ใช่แค่การลงเรือมาถ่ายรูปกับวัดอรุณฯ หรือพระปรางค์แล้วก็ไป 

ไอศกรีมที่เป็นลายกระเบื้องนี้ อาจทำให้นักท่องเที่ยวนั้นได้ฉุกคิดว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มาประกอบเป็นประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ที่น่าสนใจของพระปรางค์วัดอรุณฯ คือ ลายกระเบื้อง ทำให้คนสนใจที่จะเข้าไปเยี่ยมชม และท่องเที่ยวมากขึ้น

ทำไมต้องเป็นลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ

จากแพสชันทั้งหมดที่ไม่ใช่แค่การทำไอศกรีม แต่ต้องการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในไทยมีองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นเยอะมาก เช่น วัฒนธรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นนอกจากการจัดแสดง ประวัติ และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่นอย่างจริงจัง อีกทั้งทาง กทม. เองยังสนับสนุนเรื่องของ Creative Economy เลยคิดว่าถึงเวลาที่สมควรแล้วที่จะลองพรีเซนต์ไอศกรีมที่เราชอบ ให้ออกมาจากแนวคิดเรา ที่นำเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ต่างๆ มาผสมผสาน เพื่อดูผลตอบรับว่าจะเป็นอย่างไรจึงเป็นที่มาของไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ

หลายคนไปท่องเที่ยวที่วัดอรุณฯ โดยอาจไม่ได้ชมรายละเอียดของกระเบื้องที่ติดอยู่ เมื่อมีไอเดียจากไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ทำให้นักท่องเที่ยวจึงอยากไปค้นหา และใช้เวลาในการชมรายละเอียด และความสวยงามของศิลปะลายกระเบื้องของพระปรางค์เพิ่มมากขึ้น

“นับเป็นไอเดียเปลี่ยนการถ่ายทอดศิลปะจากแค่บนผนัง ให้มาเป็นลวดลายไอศกรีมที่สวยงาม เพื่อที่จะสามารถจับต้อง และรับรู้เรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น... รวมถึงการซื้อของที่ระลึกในประเทศไทยที่ยังมีความจำเจ ให้ออกมาเป็นของที่น่าสนใจ ตื่นตาตื่นใจ และเข้าใจในตัวของสถานที่ท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น”

2 รสชาติแห่งความเป็นไทย จากไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ 

ไอศกรีมรสกะทิอัญชัญอบควันเทียน : รสชาติกะทิอัญชัญอบควันเทียน ซึ่งเป็นสีเดียวกันที่ล้อไปกับลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่ง ‘ควันเทียน’ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยในการอบ และทำขนม ไม่ว่าจะกลิ่น หรือสี รวมทั้งยังเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นวัดไทยได้อย่างดี 

...

ไอศกรีมรสชาไทย : รสชาติความเป็นไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ปนกับวัฒนธรรมจีนที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งตรงกันกับประวัติศาสตร์ และปฏิมากรรมของวัดอรุณฯ อย่างลงตัว

แผนการพัฒนา ต่อยอด ไอศกรีมไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

คุณตาล เล่าว่า "ตอนนี้มีแผนงาน และเตรียมดำเนินการไปพัฒนาต่อยอด Creative Economy ในสถานที่ต่อๆ ไป ไม่น่าจะเกินเดือนหน้า ส่วนใน ARUN CAFE ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ อาจจะมีรสชาติอื่นๆ จากความคิดเห็นลูกค้าที่อยากให้มีรสชาติให้เลือกเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะต้องติดตามในตัวของรสชาติอื่นๆ ในอนาคตว่าจะเป็นรสชาติอะไร ซึ่งไม่หยุดพัฒนาต่ออย่างแน่นอน”

ความแน่วแน่ของ คุณตาล ในการมาทำงานด้านนี้ ไม่ใช่เพียงการทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นธุรกิจที่ช่วยผลักดัน ส่งเสริมในทุกๆ ภาคส่วนของการท่องเที่ยวไทยให้มีความทันสมัย และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 

“ตาล อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยการท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างจริงจัง และพัฒนาต่อยอดชิ้นงานให้ดีมากยิ่งขึ้น”

...

แลนด์มาร์กของสถานที่ท่องเที่ยวในไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอยู่ไม่ขาดสายก็จริง แต่จุดขายยังเป็นความดั้งเดิม ที่ยังขาดสีสัน ในการพรีเซนต์แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ให้ทันสมัย และดึงดูดผู้คนให้อยู่กับสถานที่นั้นๆ ให้นานกว่าเดิม ดังนั้นแล้วการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่งแต้มสีสันให้มีจุดเด่น และน่าสนใจมากกว่าเดิมในยุคปัจจุบัน

ภาพ : Pop Icon (ป๊อป ไอคอน)