ทันทีที่ได้รับเทียบเชิญจาก คุณแป้ง สีวลี ตรีวิศวเวทย์ ที่ปรึกษาบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)ให้เดินทางร่วมทริปหลวงพระบาง กับทีมบิ๊กบอสของไทยรัฐ เสียงเพลงรำวงม่วนชื่น โอ้เมืองหลวงพระบาง เจ้ายัง สบายดีบ่...หลายปีจึงได้มาพ้อ...ดลนานหนอเฮาจึงได้พบกัน ก็ลอยมาเข้าหูทันที
ออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เอเชียบูทีคแอร์ไลน์ บินแค่ชั่วโมงเศษๆ เราก็มาถึงสนามบินนานาชาติวัดไต กำแพงนครเวียงจันทน์ ก่อนจะเดินทางต่อไปหลวงพระบางด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ ใหม่ของการท่องเที่ยวในลาว และเป็นที่นิยมอย่างสูงของนักท่องเที่ยวหลังเปิดบริการได้ปีกว่า รถไฟสายนี้ก็มีคนแห่จองเต็มทุกเที่ยว
...
เส้นทางรถไฟลาว-จีนมีทั้งหมด 32 สถานี ทั้งสถานีรับส่งผู้โดยสารและสถานีขนส่งสินค้า ปัจจุบันเปิดบริการรับส่งผู้โดยสารในฝั่งลาวแล้ว 6 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ โพนฮง วังเวียง หลวงพระบาง เมืองไซ และบ่อเต็น รถไฟ สายนี้ถือว่าตอบโจทย์การเดินทางท่องเที่ยวในลาวอย่างมาก เพราะย่นระยะเวลาลงมากกว่า 10 ชั่วโมง จากเดิมที่การเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็น ต้องใช้เวลามากกว่า 13 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ระยะทางราว 600 กิโลเมตร สามารถย่นระยะเวลาลงเหลือเพียงแค่ 4 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนจากเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที จากเดิมถ้านั่งรถต้องใช้เวลานานราว 8-10 ชั่วโมง เพราะต้องวิ่งอ้อมเขาที่คดเคี้ยว และถนนหนทางก็ไม่เป็นใจ การนั่งรถไฟคราวนี้ ถือว่าตอบโจทย์อย่างมาก แถมค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 ก็ไม่แพงมาก แค่ 957 บาท เท่านั้น
เรามาถึงหลวงพระบาง ก็ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี อาหารกลางวันมื้อแรกที่ทาง C.K. Power จัดต้อนรับเป็นร้านอาหารชื่อดัง Zurich อาจจะดูฝรั่งๆ หน่อย เพราะยังไงลาวเขาก็เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่แล้ว จัดสรรความอร่อยกันไปเบาๆ ก่อนจะเดินทางไปทำพิธีเสริมสิริมงคลกันที่ “วัดล่องคูน เมืองเชียงแมน” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตัวเมืองหลวงพระบาง ตกเย็นก็ล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกในแม่น้ำโขง ก่อนจะไปดินเนอร์ที่ร้าน L’ Elephant ซึ่งเป็นอาหารชื่อดังของหลวงพระบาง เรียกว่า แค่วันแรกก็ฟินจนบอกไม่ถูกละ
อรุณสวัสดิ์...หลวงพระบางวันที่สอง กับอาหารเช้าที่มีให้เลือกทั้งแบบ Continental และ Local ที่โรงแรม Luang Prabang View ก่อนที่จะออกเดินทางไปโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการเดินทางครั้งนี้
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์ของบริษัท C.K. Power กลางแม่น้ำโขง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าแบบ Run of River แห่งแรกในแม่น้ำโขง มีจุดเด่น คือ เน้นหลักธรรมชาติของแม่น้ำโขง ที่น้ำสามารถไหลผ่านได้ตามธรรมชาติ ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อการคมนาคมขนส่งของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 135,000 ล้าน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้
...
เราใช้เวลาเกือบทั้งวันดูความยิ่งใหญ่ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ก่อนจะเดินทางกลับเข้าตัวเมืองหลวงพระบาง เย็นนี้ เจ้าภาพจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับชาวคณะที่โรงแรม เดอะ แกรนด์ หลวงพระบาง ถือเป็นการอวยชัยให้พร ให้ทุกคนมีความสุข ความเจริญ ร่มเย็น เป็นสุข สร้างความประทับใจแบบสุดๆ
และเมื่อมาถึงหลวงพระบางแล้ว สำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ควรพลาดการเดินช็อปปิ้ง “ตลาดมืดหลวงพระบาง” ถ้าเป็นบ้านเราก็เรียกว่า ตลาดถนนคนเดิน เพราะเขาปิดถนนศรีสว่างวงศ์ ซึ่งตัดผ่านใจ กลางเมืองตลอดเส้นทางตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม ให้เป็นที่จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ศิลปหัตถกรรม ของขวัญ ของฝาก โดยเฉพาะซิ่นลาวซึ่งเป็นที่นิยมของสาวๆ ที่ไปเยือนหลวงพระบาง ไปจนถึงอาหารการกินหลากหลายชนิด เรียกว่านักท่องเที่ยวเดินกันเพลิน จับจ่ายใช้สอยละลายเงินกีบกันเป็นล้านๆ เลยทีเดียว
...
สบายดีหลวงพระบาง วันสุดท้าย ที่ใครมาหลวงพระบางต้องไม่พลาดโปรแกรมนี้ นั่นก็คือ การตักบาตรข้าวเหนียว ที่เริ่มกันตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง งานนี้สาวๆ ชาวไทยรัฐได้มีโอกาสสวมผ้าซิ่นที่เพิ่งซื้อมาหมาดๆ เมื่อคืน ส่วนหนุ่มๆก็ได้แต่งตัวเป็นบ่าวลาว มีผ้าเฉลียงที่ทาง C.K. Power จัดให้ สะพายเบี่ยงไปตักบาตรกันแบบอิ่มบุญ อิ่มใจ
เสร็จจากตักบาตร ก็ไปต่อกันที่วัดเชียงทอง ที่นอกจากจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางแล้ว ยังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สายที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลวงพระบาง นั่นก็คือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำคาน ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า จุดตัดแม่น้ำ 2 สี เพราะน้ำโขงจะสีแดง และน้ำคานจะสีขุ่น
วัดเชียงทอง สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อุโบสถหลังใหญ่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้านช้าง เป็นที่ประดิษฐานพระองค์หลวง และพระบางจำลอง ใกล้ๆกันเป็นวิหารหลังเล็ก ที่เรียกว่า “หอพระม่าน” เป็นที่ประดิษฐาน “พระม่าน” 1 ใน 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหลวงพระบาง และจะเปิดให้ชมและสรงน้ำพระม่านได้เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น
...
จากวัดเชียงทอง ไป City ทัวร์กันต่อที่ “หอคำ” หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง สร้างเมื่อ พ.ศ.2447 สมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ เดิมเป็นพระราชวังเจ้ามหาชีวิต ใช้เป็นพระราชวัง มาจนถึงสมัยสมเด็จเจ้าศรีสว่างวัฒนา ก่อนจะปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุ งานศิลปะและทรัพย์สินต่างๆ ของราชวงศ์ รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระประจำเมืองหลวงพระบางด้วย
ตรงข้ามหอคำ เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุพูสี” พระธาตุรูปทรงดอกบัวสี่เหลี่ยม เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง และยังเป็นจุดชมวิว 360 องศาของเมืองในช่วงพระอาทิตย์ตกด้วย
จริงๆยังมีอีกหลายที่ในหลวงพระบางที่น่าไปชม ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกตาดกวางสี, ถ้ำติ่ง และวัดสำคัญๆ อีกหลายวัด น่าเสียดายที่ทริปนี้มีเวลาน้อย ได้แต่เก็บตกที่เที่ยวในเมืองมาฝาก คราวหน้าถ้าได้มีโอกาสมาเยือนเมืองมรดกโลกแห่งนี้อีกครั้ง น่าจะมีเวลาได้ไปเยือนอีกหลายสถานที่ คราวนี้เล่าให้ฟังเท่านี้ก่อน
แต่ถึงจะแค่นี้ ก็หลงเสน่ห์หลวงพระบางจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้วล่ะ...!