หัวหน้าทีมซอกแซกเกริ่นไว้แล้วว่าไปเที่ยวหลวงพระบางมาแล้ว 2 ครั้ง กลับมาก็เขียนถึงทุกครั้ง โดยเฉพาะการไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลตามวัดดังต่างๆ

นอกจากเขียนถึงบรรยากาศในปัจจุบันแล้ว ก็ยังเล่าถึงเรื่องราวย้อนหลังเจาะเวลาไปหาอดีตทั้งที่เป็นประวัติและตำนานของแต่ละวัดค่อนข้างละเอียดพอสมควร

ดังนั้นไปเที่ยวนี้จึงมีเรื่องเขียนถึงน้อยมาก... เขียนแค่ 2-3 วันในคอลัมน์ปกติประจำวันเรื่อง เขื่อนไซยะบุรี เรื่อง ตะวันตกดินที่ริมแม่น้ำโขง กับเรื่อง “รถไฟความเร็วสูง” เมืองลาว ก็ทำท่าจะจบเสียแล้ว

แต่พอกลับไปพลิกสมุดบันทึกดูอีกรอบก็พบว่าไปเที่ยวนี้มีโอกาสไปกราบพระที่วัดซึ่งยังไม่เคยไปและไม่เคยเขียนถึงมาก่อนอยู่วัดหนึ่ง

วัด “ล่องคูน” แขวงหลวงพระบางที่อยู่ตรงกันข้ามคนละฝั่งโขงกับ วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นวัดหลวงและวังของเจ้ามหาชีวิตลาวในอดีตที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์นั่นแหละครับ

วันนี้ขอขยายความต่อเพราะหลังจากกลับมาอ่านสมุดบันทึกและค้นหาจาก “กูเกิล” เพิ่มเติมทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปและความสัมพันธ์ระหว่างวัดนี้กับประเทศไทยของเราค่อนข้างมากทีเดียวนับแต่ในอดีตกาลที่ผ่านมา

หัวหน้าทีมเล่าแล้วว่า วัดล่องคูน แห่งนี้เป็นวัดที่เจ้ามหาชีวิตของลาว ยุคยังเป็นพระราชอาณาจักรจะมาบวชนุ่งขาวห่มขาว 7 วันก่อน เสด็จขึ้นครองราชย์

นอกจากนี้ยังเคยเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชลาว องค์สุดท้ายก่อนลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อ พ.ศ.2518 เคยผนวชและจำพรรษาอยู่หลายพรรษา

...

อันได้แก่ สมเด็จยอดแก้วพุทธชิโนรส (บุญทัน ธฺมมญาโณ) ที่ต่อมาได้เสด็จลี้ภัยมาประเทศไทยและอาพาธด้วยโรคชราหลังจากเข้าประทับรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ระยะหนึ่งก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมิถุนายน 2524

นับได้ว่าวัดล่องคูนแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศไทยเราทั้งในอดีตอันยาวนานกว่าร้อยปีและในอดีตเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

สำหรับความสัมพันธ์ในอดีตอันยาวไกลนั้น มีเรื่องเล่าว่า วัดนี้ได้รับการบูรณะโดยกองกำลังทหารไทย ของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ยกทัพมาปราบฮ่อ ในบริเวณนี้พบว่าเป็นวัดร้างอยู่จึงช่วยปรับปรุงให้งดงามขึ้น

บรรดาจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ หรือ “สิม” หลังเล็กๆ จึงออกมาในลักษณะที่คล้ายๆ จิตรกรรมฝาผนังไทย และเรื่องราวในภาพวาดก็เป็นเรื่องทางพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ และชาดก ทศชาติ อันประกอบด้วยภาพพระมหาชนก ภาพพระเตมีย์ ภาพพระเวสสันดร ภาพสุวรรณสามชาดก ฯลฯ

เมื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์ย้อนหลังก็พบว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในฐานะผู้บัญชาการกรมทหารบกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ควบคุมกองทัพไทยมาปราบกบฏฮ่อที่ลาว เมื่อ พ.ศ.2428 หรือ 138 ปีที่แล้ว

ข้อสันนิษฐานเรื่องภาพวาดต่างๆที่ว่าอาจเป็นฝีมือทหารไทย หรือนำจิตรกรจากประเทศไทยไปวาดที่พระอุโบสถแห่งนี้หรือไม่ คงต้องหาหลักฐานและค้นคว้ากันต่อไป

ส่วนความสัมพันธ์ เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว นั่นก็คือ เรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชองค์สุดท้ายของลาว สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้ว พุทธชิโนรส ดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกๆแล้วว่า หลังการปฏิวัติในลาวได้เสด็จลี้ภัยมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2522 แล้วมาสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลสงฆ์

พระสังฆราชบุญทัน เป็นชาวหลวงพระบาง และเริ่มบวชเณรที่วัดล่องคูน จำพรรษาอยู่หลายปี จึงมีความผูกพันกับวัดนี้อย่างมาก แม้ในภายหลังได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ยังเสด็จมาจำวัดที่วัดล่องคูนอย่างสม่ำเสมอ

ยังมีกุฏิ ยังมีอัฐบริขาร ข้าวของเครื่องใช้ของพระองค์เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้

ท่านเจ้าอาวาสวัดล่องคูน รูปปัจจุบันเป็นพระหนุ่มใหญ่ จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย เคยเป็นลูกศิษย์ท่าน แม้จะจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่วัดหนึ่งที่หลวงพระบาง แต่ก็มาดูแลวัดนี้ให้ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส

ท่านเมตตานำคณะของเราเดินชมวัด เดินชมกุฏิ อดีตสมเด็จพระสังฆราชลาว และแจกพระแจกสายสิญจน์ผูกข้อมือ รวมทั้งนำสวด ชยันโตให้แก่พวกเราในพระอุโบสถ

ในห้องประทับบรรทมของอดีตพระสังฆราชลาว บุญทัน บุบพะลัด ยังมีพระ ฉายาลักษณ์ของท่านประดิษฐานอยู่ด้วย (ดังรูปถ่ายที่ช่างภาพของคณะเราบันทึกไว้) ส่วนภาพสิม หรือพระอุโบสถที่ใช้ประกอบข้อเขียนวันนี้นั้นมาจากเว็บไซต์การท่องเที่ยว TRIP.COM ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ (เพราะพวกเรามุ่งถ่ายตัวเราเอง หมู่บ้างเดี่ยวบ้าง จนลืมถ่ายพระอุโบสถไปเสียสนิท)

ในบันทึกที่ค้นได้จากกูเกิล สรุปว่า อดีตพระสังฆราชลาว สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อ 24 มิถุนายน 2524 สิริอายุ 90 ปี กับ 175 วัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานโกศไม้สิบสอง และโปรดฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ ราชกุมาร พระอิสริยยศในขณะนั้น เสด็จฯแทนพระองค์ถวายพระเพลิงพระศพ ณ วัดเทพ ศิรินทราวาส เมื่อ 12 มีนาคม 2528

นี่คือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างวัดล่องคูน หลวงพระบาง กับประเทศไทย และคนไทย เท่าที่ค้นคว้าได้รวม 2 เรื่อง 2 เหตุการณ์สำคัญด้วยกัน

ท่านผู้อ่านท่านใดที่จะไปเยือนหลวงพระบาง หากมีเวลาจะหาโอกาสนั่งเรือข้าม แม่นํ้าโขงไปไหว้พระประธานและชมความงามจากจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และไหว้อดีตสมเด็จพระสังฆราชองค์สุดท้ายของลาวก็เชิญนะครับ...

...

เสร็จแล้วไปล่องเรือดูชมพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาแม่นํ้าโขงต่อได้เลย.

“ซูม”