“หมู่เกาะกาลาปากอส” ได้รับเลือกเป็นเป้าหมายแห่งแรกๆจากโครงการ “Mission Blue” องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์มหาสมุทร ภายใต้การสนับสนุนของ “Rolex” ในฐานะที่เป็น “Hope Spot” พื้นที่เปี่ยมไปด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง เพื่อความสมบูรณ์และอนาคตของมหาสมุทร โดย “ซิลเวีย เอิร์ล” ผู้ก่อตั้งโครงการตั้งใจแสดงให้โลกเห็นว่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ต่อมหาสมุทรนั้นสามารถแก้ไขได้ ซึ่งการสำรวจครั้งใหม่ได้เพิ่มหลักฐานถึงความจำเป็นที่ต้องปกป้องผืนทะเลให้มากยิ่งขึ้น
...
เป็นเวลาเกือบศตวรรษที่ “Rolex” สนับสนุนเหล่านักสำรวจผู้บุกเบิก กระทั่งมาต่อยอดการสนับสนุนไปสู่การอนุรักษ์โลกธรรมชาติ พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบุคคลและองค์กรในระยะยาว โดยใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและคิดค้นวิธีแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์และไม่เหมือนที่ใดของ “หมู่เกาะกาลาปากอส” เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์นานาชนิด ที่ไม่สามารถพบในที่อื่นใดบนโลก เมื่อนักสมุทรศาสตร์ในตำนานอย่าง “ซิลเวีย เอิร์ล” ไปเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ครั้งแรกในปี 1966 ถึงกับเปรยว่า ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีปลาฉลามและปลาชนิดต่างๆมากที่สุดเท่าที่เคยไปเยือน แต่สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้มีความพิเศษก็สามารถทำให้เปราะบางเช่นกัน เพราะยิ่งมีคนค้นพบเกาะแห่งนี้มากขึ้นเท่าใด สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก็สามารถรุกรานเข้ามา ทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นเท่านั้น
ความพยายามของเธอไม่สามารถรอให้ถึงช่วงเวลาที่วิกฤติไปกว่านี้ แม้ประเทศเอกวาดอร์จะก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอสขึ้น เมื่อปี 1998 ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของเกาะถึง 133,000 ตารางกิโลเมตร ทว่ายังจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่า ชาวบ้าน, นักท่องเที่ยว และชาวประมง จะได้ใช้หมู่เกาะ กาลาปากอสอย่างยั่งยืนต่อไปอีกหลายปี
...
25 ปี หลังการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล กาลาปากอส ถึงเวลาแล้วที่จะประเมินผลลัพธ์ของการคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ในฐานะ “Rolex Testimonee” ซิลเวียได้ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน ดำเนินการสำรวจทั่วพื้นที่ “Hope Spot” แห่งนี้ เป็นเวลาสองสัปดาห์เต็ม เพื่อประเมินระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยการสำรวจส่วนใหญ่เน้นค้นหาความหลากหลายที่ซ่อนเร้นและถูกลืมเลือนอยู่ภายใต้เกลียวคลื่น เพื่อใช้เป็นคุณค่าพื้นฐานด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งการสำรวจในอนาคตสามารถติดตามย้อนรอยได้ มีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อม (eDNA) และระบบวิดีโอใต้น้ำ งานนี้ทีมสำรวจค้นพบข้อมูลประชากรที่สำคัญของสัตว์ที่ไม่ค่อยมีผู้ศึกษาวิจัย เช่น ม้าน้ำ และกุ้งก้ามกรามเฉพาะถิ่น
...
ทีมสำรวจดังกล่าวยังทำการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานข้ามมหาสมุทรของสัตว์ทะเลนานาชนิด ด้วยวิธีตรวจจับตำแหน่งที่บันทึกการอพยพของฉลามจากสถานที่ที่ไกลออกไปถึงอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งคอสตาริกา พร้อมสำรวจแหล่งที่อยู่ของเต่า ทำแผนที่พื้นที่หาอาหารของฝูงนกเพนกวิน รวมถึงวัดระดับของไมโครพลาสติก ซึ่งการทำงานภาคสนามจะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถคิดให้เหมือนมหาสมุทร และตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศอย่างไม่มีขอบเขตสำหรับสัตว์ทะเล.