คลองแม่ข่า มีประวัติและที่มาอย่างไร ทำไมจึงได้กลายเป็นที่เที่ยวยอดนิยมของเชียงใหม่ในตอนนี้
คลองแม่ข่า ไม่ใช่คลองใหม่ที่เพิ่งขุดสร้างขึ้น แต่เป็นคลองโบราณที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่อธิบายถึงชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 หรือกว่า 720 ปีก่อนเลยทีเดียว
ในอดีต คลองแม่ข่าถือได้ว่าเป็นลำน้ำที่มีความสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่เป็นคูเมืองที่ช่วยปกป้องตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยเส้นทางที่ไหลคดเคี้ยวอ้อมเมืองไปมาจากเหนือลงใต้กว่า 30 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังช่วยในการระบายน้ำจากเขตตัวเมืองเชียงใหม่ลงไปยังแม่น้ำปิง ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำใช้ทั้งเพื่อเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค และเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรทางน้ำที่สำคัญ
...
แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีชุมชนแออัดผุดขึ้น รวมทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลองแม่ข่าจึงมีขนาดแคบลงกว่าแต่ก่อน และทรุดโทรมอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีการทิ้งน้ำเสียจากทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนโดยไม่ได้ผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย จนทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียมายาวนานจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตก และใช้งบประมาณในการทำความสะอาดคลองหลายล้านบาทในแต่ละปี จากการศึกษาคุณภาพน้ำพบว่าน้ำในคลองนั้นเสียอยู่ในระดับที่ 5 คือคุณภาพเสียสูงสุด ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้อีก มีออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งพบสารปนเปื้อน อาทิ อีโคไลน์ ไนเตรต และฟอสฟอรัสสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและมีสีขุ่นดำ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการฟื้นฟูคลองแม่ข่าโดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ใช้พืชน้ำบัดบัดน้ำเสีย และจ้างคนดูแลคลองด้วย เพื่อผลักดันให้ยูเนสโกพิจารณาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก และมองว่าคลองแม่ข่าถือเป็นมรดกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่ที่ควรได้รับการพัฒนาสำหรับเป็นจุดขายการท่องเที่ยวได้
ปัจจุบัน คลองแม่ข่า ได้ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม มีบรรยากาศคล้ายกับคลองโอตารุของประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวล่าสุดของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในวันที่ 7-9 พฤศจิกายนนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ร่วมกับชุมชนริมสองฝั่งคลองและภาคเอกชน นำโคมล้านนาหลากสีสันมาตกแต่งพื้นที่ให้มีความสวยงาม รวมทั้งยังมีกระทงยักษ์และโคมผัดที่ถูกนำไปวางประดับอยู่กลางสายน้ำมาให้ได้ชมและถ่ายภาพ สร้างบรรยากาศและส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็งได้อย่างคึกคัก
ข้อมูลอ้างอิง: กลุ่มเครือข่าย Spark U Lanna