มลายูลิฟวิ่ง จัดเทศกาล Pattani Decoded 2022 ในระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน ในย่านเมืองเก่าปัตตานี พร้อมไฮไลต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกลือหวานปัตตานี
ทีมผู้จัดงานเทศกาล Pattani Decoded 2022 ยืนยันถึงความพร้อมในการจัดงานที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-4 กันยายน 2565 บริเวณถนนฤาดี ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนอาเนาะรู ซึ่งธีมของการจัดงานเป็นเรื่องเกลือหวานปัตตานี หรือ Garam manis มาถอดรหัส โดยผ่านมุมมองและแนวคิดของศิลปิน นักออกแบบ ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและผู้คนในพื้นที่
“ปีนี้เราเลือกประเด็นที่คนปัตตานี หรือคนสามจังหวัดหลายคนคุ้นเคยอย่างดีคือเกลือหวานปัตตานี เพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นอาชีพที่คนที่นี้ ริมทะเลฝั่งนี้ทำมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ส่งต่อให้คนที่ต่างๆ ได้ชิม ได้กิน ประกอบอาหาร ได้ทำอะไรอีกหลายอย่าง ได้เป็นตู้เย็นถนอมอาหารในยุคสมัยก่อน แต่จากที่เคยขายดี เคยรุ่งเรือง ทำกันหลายพันไร่ แต่ในปัจจุบันมีคนทำน้อยลง พื้นที่ทำนาเกลือก็น้อยลง เราเองซึ่งฟังเรื่องราวของเกลือหวานตั้งแต่เด็กรู้สึกว่านี่คือสิ่งสำคัญว่าเราต้องทำอย่างไรต่อ นี่เป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรกับมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามี” ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน กล่าว
...
กิจกรรมหลักภายในงาน Pattani Decoded 2022 คือ นิทรรศการที่ชวนนักออกแบบมาตีความและออกแบบต่างๆ ในย่านเมืองเก่า และที่นาเกลือ แหลมนก พร้อมทั้งมีศิลปิน นักสร้างสรรค์ต่างๆ มาเปิดเวิร์กช็อป เช่น การย้อมผ้า การเขียนค็อต การสเก็ตช์ภาพต่างๆ รวมถึงการจัดเดย์ทริป ซึ่งเป็นทริปพิเศษสำหรับคนที่สนใจการทำนาเหลือ ด้วยการพาไปสัมผัสชุมชนที่ทำนาเกลือ เข้าไปชิมขนมของชุมชนที่ไม่ได้มีแค่เกลือ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึง Salt market ให้คนนำสินค้าที่เกี่ยวกับเกลือมาวางขาย นอกจากนี้ยังมีเชฟ เทเบิล ที่นำเอาเมนูพื้นถิ่น วัตถุดิบในพื้นที่มาเป็นเมนูสูตรพิเศษ ที่จะเปิดให้ขายให้คนที่สนใจเร็วๆ นี้
นอกจากการถอดรหัสเกลือหวานออกมาเป็นงานนิทรรศการให้คนมาเยี่ยมชมแล้ว อีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของงานนี้คือกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานีมากขึ้นในมุมมองที่หลากหลายผ่านการตีความของนักออกแบบ
“เรามองว่าการหยิบยกเรื่องเกลือขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเป็นตัวเล่าเรื่องราวและทำให้เกิดเรื่องราวของท่องเที่ยวได้ เข้ามาในพื้นที่ได้ เป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ชื่นชมในแนวคิดที่ทำให้เกิดงานรูปแบบนี้ โดยมีการดึงต้นทุนของพื้นที่เข้ามา ปรับให้มีความทันสมัย ร่วมสมัยและเหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัยที่สามารถเข้าไปเสพงานได้ทุกมิติ” นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส กล่าว
สำหรับนิทรรศการที่เป็นไฮไลต์ของงาน Pattani Decoded 2022 มีทั้งหมด 13 นิทรรศการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
Salted Space: โดยอนุสรณ์ ติปะยานนท์ และ นราวดี โลหะจิณดา: นิทรรศการที่จะเปลี่ยนประสบการณ์รับรู้ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเกลือในภูมิภาคแห่งนี้ รวมทั้งการฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของนาเกลือปัตตานี และความสําคัญของสินค้าเกลือที่มีต่อเมืองปัตตานี
Unlucky Odyssey: โดยทีม Pattani Landlord ที่นําเสนอผลงานในรูปแบบ Visual Projecting ซึ่งเป็นการฉายแสงชิ้นงานลงบนอาคารในย่านเมืองเก่าปัตตานี โดยบรรจุร่องรอยและเรื่องราว เชื่อมโยงพื้นที่ผู้คนเข้ากับการเดินทางของเกลือและใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านของเกลือเป็นต้นทุนความคิด ต่อยอดสื่อสารผ่านมิติสิ่งแวดล้อม สะท้อนภาพการเดินทางของเกลือผ่านงาน Drawn Animation สร้ างสรรค์ชิ้นงานด้วยภาพวาดลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ร่วมกับการทํางาน Animation โดย ฮาซัน ตาเละ จาก IDIO MOTION
ประกอบสร้าง ปัจจุบันจากอดีต: นิทรรศการจาก เดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส ที่จะชวนทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ของการค้นเจอ ลิ้มลอง และรับรู้ ได้ด้วยการผสมผสาน การชิม การดู และการฟัง ไปในนิทรรศการศิลปะ ที่สร้างจากการประกอบเข้าด้วยกันของอดีตที่หลากหลายคน ผู้คนสิ่งของ เพื่อให้เห็นถึงมุมมองของปัจจุบันที่หลากหลาย จากการระลึกถึง และให้ถูกจดจํา ในสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่
...
เดินเล่นเส้นน้ำใส: โดย Trash Hero Pattani กิจกรรมชักชวนเยาวชนในพื้นที่ให้ลงพื้นที่สํารวจคุณภาพนํ้าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสายนํ้าของคลองนํ้าใสที่ไหลลงสู่แม่นํ้าปัตตานี และไหลลงทะเลจนกลายมาเป็นเกลือ หวานให้ทุกคนได้ลิ้มรส เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการสํารวจจะถูกนํามาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงาน
Field Work: โดย thingsmatter ที่จะจําลองความระยิบระยับของชายหาดที่เคยเต็มไปด้วยนาเกลือเมื่อมองมาจากท้องทะเล ผู้ชมจะได้สัมผัสขณะเดินชมชิ้นงานเมื่อแสงอาทิตย์ทอดทํามุมสะท้อนกับกระจกเงาจํานวนหลายร้อยชิ้นที่ติดตั้งในมุมองศาต่างๆ กันในนาเกลือ ของตําบลบานา อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
...
The Memoirs of Taning: จากแบรนด์ Srinlim ที่จะถ่ายทอดมุมมองจากคนนอกพื้นที่ที่มองเข้ามาและสื่อสารความประทับใจผ่านงานออกแบบ Graphic Design ผสมงานปักบนผืนผ้าโปร่งที่ย้อมด้วยคราม โดยวัสดุที่ใชถ่ายทอดเรื่องราวนั้น ได้แรงบันดาลใจจากผ้าคลุมผมโปร่งๆ ของชาวมุสลิม และม่านปักลายฉลุตามบ้านผู้คนในยุคก่อน จึงเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งของชาวมุสลิม และชาวจีนในพื้นที่เข้าด้วยกัน
หากใครชื่นชอบงานศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ควรพลาดเทศกาลนี้