เทรนด์ของการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก และ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวที่บรรดาผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวไปจนถึงนักท่องเที่ยว ให้ความสำคัญและเป็นหนึ่งเหตุผลในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว โดยเกือบ 3 ใน 4 หรือประมาณ 71% ของนักเดินทางท่องเที่ยว บอกถึงความต้องการที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10% จากก่อนหน้าที่จะมีการ ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็กำลังจะรณรงค์แคมเปญ Meaningful Travel ยิ่งเที่ยวยิ่งให้ ให้เป็นหนึ่งในแคมเปญของการเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ Booking.com หนึ่งในบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการเดินทางระดับโลก ได้ประกาศเปิดตัวตราสัญลักษณ์ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน หรือ “ป้ายกำกับที่พักรักษ์โลก” หรือสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” เป็นครั้งแรกในวงการท่องเที่ยว โดยสัญลักษณ์นี้จะเป็นตัวแทนของมาตรการด้านความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้มาตรฐานระดับโลก เป็นข้อมูลที่ผู้เดินทางทั่วโลกใช้สำหรับการตัดสินใจเลือกการเดินทางที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

...

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาที่จัดทำโดย EY Parthenon และ Booking.com ซึ่งพบว่าแม้กลุ่มผู้ให้บริการที่พักจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 264 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมดต่อปีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ผู้ให้บริการที่พักยังมีโอกาสที่จะช่วยให้การเดินทางและการท่องเที่ยวมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ที่จะช่วยทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการที่พักหลายแห่งได้เริ่มใช้มาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์กันบ้างแล้ว

จากการสำรวจพบว่า 81% ของผู้เดินทางทั่วโลก และ 98% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า ต้องการที่พักแบบรักษ์โลก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

และด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวระดับโลก การจัดทำสัญลักษณ์รักษ์โลกจะช่วยให้ผู้เดินทางค้นพบที่พักรักษ์โลกได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่ง 73% ของผู้เดินทางทั่วโลก และ 83% ของผู้เดินทางชาวไทยมีแนวโน้มที่จะ เลือกที่พักบางแห่งที่มีการปรับใช้แนวทางเพื่อความยั่งยืน เรียกได้ว่าสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” และโปรแกรมด้านการเดินทางอย่างยั่งยืน เป็นตัวช่วยให้ที่พักเข้าถึงความ ต้องการของผู้เดินทางได้อย่างตรงใจและ ยังเป็นการกระตุ้นผู้ให้บริการที่พักทั่วโลกได้ก้าวสู่ขั้นถัดไปบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน และในท้ายที่สุดตัวเลือกที่พักแบบยั่งยืนที่มีให้เลือกจองจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลาก หลายยิ่งขึ้น และเข้าถึงได้อย่าง ง่ายดายยิ่งขึ้น

มาริแอน กิบเบิลส์ (Mari anne Gybels) ผอ.สายงานความยั่งยืนของ Booking.com บอกว่า การสร้างอุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงจำเป็นต้องใช้เวลา ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และความพยายามร่วมกัน ซึ่งความยั่งยืนดังกล่าวจะรุดหน้าไปได้ก็ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้เดินทางมีข้อมูลในการตัดสินใจ และเข้าถึงตัวเลือกด้านการเดินทางที่มีความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้นสำหรับทริปถัดไป

ความยั่งยืนที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ตราสัญลักษณ์รักษ์โลก จะพิจารณาจากการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ครอบคลุมตั้งแต่การเลิกใช้เครื่องใช้ในห้องน้ำที่บรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED เพื่อใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบ 100% หรือสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากกำไรให้กลับไปพัฒนาชุมชน และหมุนเวียนในโครงการเพื่อการอนุรักษ์ในท้องถิ่น

...

หลังเปิดตัวมาไม่ถึง 1 ปี ขณะนี้มีที่พักทั่วโลกถึง 99,000 แห่งแล้วที่ได้รับ “ป้ายกำกับที่พักรักษ์โลก” ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ในอัมสเตอร์ดัม โฮมสเตย์ในอินเดีย ไปจนถึงรีสอร์ตซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งโกลด์โคสต์ในออสเตรเลีย

ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ แต่ในขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตถึงขีดสุด ปัญหาที่ฝังรากลึกมานานได้ถูกเปิดเผยพร้อมกับความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เห็นเด่นชัดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง ขยะพลาสติก ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter หรือ PM 2.5) ความสะอาดของแหล่งน้ำสาธารณะ การเสื่อมของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียคุณค่าด้านการท่องเที่ยว การมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ ทางรอดของสังคมไทย และทำให้ทุกประสบการณ์การท่องเที่ยวเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งคุณค่าและความหมายไปพร้อมๆกัน.