ปิดฉากลงอย่างงดงามสำหรับงาน “มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5” (Thailand Friendly Design Expo 2022) ที่น่าสนใจคือ งานนี้มีการคิกออฟนโยบายอารยสถาปัตย์ของรัฐบาล โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ประกาศย้ำในงานว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ ถือเป็นการตอบรับกติกาสากลที่นานาอารยประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ตามการคาดการณ์ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ตามติดประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อย่าง เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ไม่นับรวมญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงอายุในระดับสูงสุดไปก่อนหน้านี้แล้ว ไม่นับรวมผู้พิการในประเทศไทยที่ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 สรุปว่ามีจำนวน 2,095,205 คนตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรกับเรา...
คำตอบคือ ความจำเป็นของการออกแบบสถานที่ ของใช้ สิ่งรอบตัว ของส่วนรวมให้เป็นมิตรกับทุกคน ตอบโจทย์การใช้งานของคนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ไปจนถึงคนพิการ ให้สามารถใช้งานได้สะดวกปลอดภัยด้วยตัวเอง ที่เรียกว่าอารยสถาปัตย์ (Friendly Design หรือ Universal Design) กลายเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็น ที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนทันที
...
การที่กระทรวงวัฒนธรรมออกมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก “กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการออกแบบและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับคนทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ด้วยหลักคิดการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ใช้รถเข็น หรือมนุษย์ล้อ รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ให้สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ ไปท่องเที่ยวกันได้ สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก” นายอิทธิพลบอก พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปรับปรุงและพัฒนาให้มีอารยสถาปัตย์หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ที่จอดรถ ลิฟต์ ห้องสุขา ที่สามารถรองรับการเข้าถึงได้ และใช้งานได้ของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ และครอบครัว ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัยอย่างทั่วถึง ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน วัดวาอาราม ศาสนสถานต่างๆ
รมว.วัฒนธรรมบอกว่า นโยบายดังกล่าวไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ในเรื่องความเท่าเทียมหรือลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Friendly Design เท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของผู้พิการ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ เพราะบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในปัจจุบัน นอกเหนือจากบทบาทด้านสังคมแล้ว ยังมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
...
“บางครั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาก็อยากจะมาเรียนรู้วิถีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชุมชนของไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องใช้วีลแชร์หรือเครื่องช่วยพยุงต่างๆ แม้แต่นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุ การทำให้มีอารยสถาปัตย์ในทุกที่ ก็หมายถึงการเพิ่มการเข้าถึงความเป็นไทยในทุกที่” รมว.วัฒนธรรมบอกและว่า เมื่อมีการเข้าถึง แน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ การต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น
ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลายแห่งที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีอารยสถาปัตย์ไปแล้ว อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือเขาวัง จ.เพชรบุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์, ชุมชนตะเคียนเตี้ย-ตลาดจีนโบราณชากแง้ว จ.ชลบุรี, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และวัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่, วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย, พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จ.ขอนแก่น, พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก จ.ยโสธร, พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี, พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา และวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
...
ซึ่งในเร็วๆนี้ เชื่อว่าแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศไทยจะมีอารยสถาปัตย์ครบ 100% เป็นการตอบโจทย์การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลอย่างแท้จริง.