ท่ามกลางดราม่าค้านการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวงไทยจาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon” โดยเก็บชื่อเดิม “Bangkok” ไว้ในวงเล็บ ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า คำว่า “บางกอก” หรือ “Bangkok” ไม่ดีตรงไหน จึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนชื่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายแก่ชาวโลก

...

ค้นตำนานที่มาของ “บางกอก” จากหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ของ “ส.พลายน้อย” บันทึกว่า “บางกอก” เป็นชื่อเรียก “กรุงเทพฯ” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อพูดถึง “บางกอก” แล้ว ใครๆจะพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชื่อ “บางกอก” ไว้ด้วย เพราะชื่อนี้เป็นปัญหาที่ตัดสินกันไม่ได้ คำว่า “บางกอก” มาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมเรียกว่า “บางกอก” มีผู้สันนิษฐานไว้หลายทาง บ้างก็ว่าที่เรียก “บางกอก” เพราะบริเวณนั้นแต่เดิมเป็นป่ามะกอก บ้างก็ว่าอาจมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” หรือบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า
“บางมะกอก” ต่อมากร่อนคำลงเหลือแค่ “บางกอก”

ด้าน “หมอสมิธ มัลคอล์ม” แพทย์หลวงประจำราชสำนักสยาม บันทึกในหนังสือ “A Physician at the Court of Siam” ว่า ชื่อ “บางกอก” มาจากคำว่า “บาง” คือหมู่บ้านหนึ่ง และ “กอก” ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในไทยสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้

...

อย่างไรก็ดี ในหนังสือจดหมายรายวันของ “บาทหลวงเดอ ชวาสี” ซึ่ง “หลวงสันธานวิทยาสิทธิ์” เป็นผู้แปลและเรียบเรียง ให้เหตุผลว่า “บางกอก” คือจังหวัดธนบุรี บางแปลว่า “บึง” ส่วนคำว่า “กอก” แปลว่า “น้ำ” (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดิน หรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่า “กอก” เป็นภาษาอะไร

...

...

ในแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่างกัน เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock ส่วนคำว่า “Bangkok” เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมาถึงปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์บันทึกว่า หลังสิ้นรัชสมัย “พระเจ้ากรุงธนบุรี” และผลัดแผ่นดินสู่ราชวงศ์จักรี “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” มีดำริว่าพระราชวังเดิมที่กรุงธนบุรีมีวัดขนาบทั้งสองด้าน ทำให้ขยายกว้างขวางออกไปไม่ได้ ไม่เหมาะเป็นราชธานีสืบไป จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระนครแห่งใหม่ขึ้นคือ “กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น. การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของชาติ เพราะในส่วนลึกของชาวไทยสมัยนั้น มุ่งมั่นที่จะกลับไปฟื้นฟู “กรุงศรีอยุธยา” ขึ้นเป็นราชธานีตามเดิม อย่างไรก็ดี ด้วยพระวิสัยทัศน์ยาวไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงตัดสินพระทัยตั้งราชธานีใหม่ที่ “บางกอก” โดยยึดเหตุผลทางยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะมีแม่น้ำเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เป็นชัยภูมิรับศึกได้อย่างดี และไกลออกไปทางทิศตะวันออกก็เป็นแผ่นดินลุ่ม เป็นด่านป้องกันข้าศึกได้อย่างวิเศษ เมื่อทรงยกเสาหลักเมืองก็เท่ากับเป็นการรวมขวัญกำลังใจ และสร้างประชามติว่า เราจะเริ่มชีวิตใหม่กันที่กรุงรัตนโกสินทร์

การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ใช้เวลาถึง 3 ปี จึงบริบูรณ์ มีกำแพงเมืองและป้อมปราการแข็งแรงมั่นคง โปรดให้ขุดคูเมืองทางทิศตะวันออก ผังเมืองพยายามลอกเลียนกรุงศรีอยุธยามากที่สุด สร้างวัดเพื่อเป็นหลักชัยของพระนคร คือ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ในพระบรมมหาราชวัง, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ และวัดพระเชตุพน พร้อมกันนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานชื่อเมืองหลวงสร้างใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนสร้อยคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” รวมความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ ทำให้ “กรุงเทพมหานคร” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก และครองสถิติกินเนสส์บุ๊กมาถึงปัจจุบัน.