ททท.ถอดรหัสพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ต้องเป็นท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายใต้หลักการ “BEST” การท่องเที่ยวที่รู้จักวางแผนล่วงหน้า ท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และนำเทคโนโลยีมาใช้กับโลกการท่องเที่ยว ซึ่งจะดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวในยุคนี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้วิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนไปภายใต้การกำกับของสาธารณสุข และสอดคล้องกับพฤติกรรมแบบ “BEST” ซึ่งเป็น 4 ตัวสำคัญที่จะเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเกิดเป็น New normal หรือชีวิตวิถีใหม่ เช่น ต่อไปนี้เวลาคิดไปท่องเที่ยวที่ไหน นักท่องเที่ยวจะต้อง B-Booking (in advance) วางแผนล่วงหน้า และจองก่อนล่วงหน้า ส่งผลต่อการวางแผนการเดินทาง ได้แก่ การจัดสรรคนร่วมคณะเดินทาง วันเวลาและค่าใช้จ่าย และอยู่ภายใต้การจำกัดจำนวน และเงื่อนไขการบริหารพื้นที่แบบเว้นระยะห่าง

“เช่นที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำระบบ แอปพลิเคชัน QUEQ เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสามารถควบคุมขีดความสามารถในการรองรับแต่ละพื้นที่ ทราบข้อมูลของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม แต่ละคน ว่ามาจากที่ใด”

ขณะเดียวกัน ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนอยู่บ้านแบบ Work From Home แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ กลับมาฟื้นฟู สวยงาม ททท.จึงต้องการปลุกจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวให้ใส่ใจกับ E–Environment หรือการท่องเที่ยวแบบใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มาช่วยกันจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และช่วยกันแก้ปัญหาจากการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดขยะ มลภาวะ เพื่ออนุรักษ์และรักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวให้ดียิ่งขึ้น

สิ่งที่สำคัญต่อมา คือ S-Safety (Come first) ปลอดภัยไว้ก่อน ททท.วิเคราะห์ว่านักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อให้สามารถป้องกันตัวเอง และช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายสู่คนอื่น พฤติกรรมในการเตรียมตัวเดินทางจะเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจะระมัดระวังสุขภาพ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ให้ความสำคัญกับการล้างมือ หรือใช้เจลล้างมือ การกำหนดระยะห่าง

ดังนั้น การสร้างมาตรฐานเพื่อให้ความมั่นใจกับนักท่องเที่ยว และให้ผู้ประกอบการตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่เสมอ ททท. จึงจัดทำโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และตั้งมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทาง

โดยมีสถานประกอบการที่มาสมัครขอรับมาตรฐาน SHA แล้ว 6,633 ราย ผ่านมาตรฐาน 5,117 ราย โดยอันดับกิจการที่มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุด ประกอบด้วย 1. โรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม 2. บริษัทนำเที่ยว 3. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 4. ยานพาหนะ 5. สุขภาพและความงาม 6. นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 7. ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ 8. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 9. การจัดกิจกรรม การจัดประชุม (MICE) โรงละคร โรงมหรสพ 10. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว

“ส่ิงที่ผมเป็นห่วงอยู่คือ กิจการที่ได้รับมาตรฐาน SHA ไปแล้ว จะปล่อยปละละเลย ไม่ยึดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นสุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ในอาคาร การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน”

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า พฤติกรรมท่องเที่ยววิถีใหม่ตัวสุดท้าย คือ T-Tecnology (enhanced tourist experiences) หรือ เทคโนโลยีสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีความจำเป็นสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ตัวอย่างการใช้แอปพลิเคชัน QueQ เพื่อคัดกรองคนเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ในทุกๆ สถานที่ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันแล้ว

การนำเทคโนโลยีมาใช้จะสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย มีความปลอดภัย และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการตัดสินใจกลับมาเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยว เช่น Mobile Track & Trace ระบบตรวจสอบความเคลื่อนไหวของตัวบุคคล และอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ หรือ Recognition เทคโนโลยีเพื่อการจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการจดจำด้วยใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือดวงตา เพื่อช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยว

“เดี๋ยวนี้ก่อนไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวของจริง นักท่องเที่ยวนิยมใช้ Augmented Realty (AR) & Vitual Reality (VR) ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงเสมือนที่ผสมผสานกับโลกของความจริงมาดูก่อนการตัดสินใจเลือกเดินทาง รวมทั้งยังใช้ผู้ช่วยเสมือนอัจฉริยะ (Smart Travel Assistants) เพื่อช่วยเหลือหรือให้ประสบการณ์เฉพาะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่นำมาช่วยในการท่องเที่ยวทั้งสิ้น”