พารู้จัก "ฮ่าวจื่อเอี๊ย" เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ขึ้นชื่อเรื่องลาภลอย ขวัญใจนักเสี่ยงโชค พบได้ยากในประเทศไทย พร้อมเปิดเส้นทางไปสถานที่บูชา ณ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
เป็นที่รู้กันดีว่า ไฉ่ซิงเอี๊ย หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เทพเจ้าชั้นสูงของจีนที่มักถูกหยิบยกมาเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเงินๆ ทองๆ ถึงขนาดเกิดไวรัลนำภาพเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยมาตั้งเป็นภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือกัน ซึ่งไวรัลดังกล่าวเกิดจากมีคนสังเกตเห็นหน้าจอมือถือของ "ลิซ่า" BLACKPINK เป็นภาพของเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย และที่สำคัญคือหลายคนที่ทำตามออกมาคอนเฟิร์มว่าได้ผลจริงอีกด้วย
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีเทพเจ้าอีกองค์ที่มีความเชื่อว่าหากบูชาแล้วจะมีโชคลาภเช่นกัน นั่นก็คือ "ฮ่าวจื่อเอี๊ย" ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกพูดถึงกันในโลกออนไลน์จากแฟนเพจ เทพเจ้าจีน - Chinese Gods ได้ให้ข้อมูลว่า ฮ่าวจื่อเอี๊ย (孝子爺) หรือ เทพแห่งโชคลาภของชาวกวางตุ้งและฮกเกี้ยน เป็นเทพสายนรกอีกองค์หนึ่งที่คนจีนแต้จิ๋วทางบ้านเราไม่ค่อยรู้จักกัน
...
ต่างจากคนจีนฮกเกี้ยน ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และคนจีนกวางตุ้งในฮ่องกง มาเก๊า ที่นิยมกราบไหว้ท่าน และมักเจอกิมซิ้น (รูปเคารพ) ท่านตามศาลเจ้าแถบนั้น หลายๆ ศาลเจ้าติดป้ายว่า "ไฉ่ซิ่ง" แต่เป็นคนละองค์กับไฉ่ซิ่งเอี๊ย รูปลักษณ์ของท่านคือคนใส่ชุดไว้ทุกข์ของจีนเป็นผ้าดิบ เพราะชาวจีนให้ความสำคัญกับการไว้ทุกข์มาก และเชื่อว่าการไว้ทุกข์สามารถปัดเป่าเคราะห์ร้ายออกไปได้
นอกจากนี้ หากใครที่กราบไหว้บูชาเทพเจ้าสายนรกจะรู้กันดีว่า เทพเจ้าสายนี้จะอัดแน่นด้วยพลังอิม (หยิน) พลังอิมนั้นก็คือเรื่องเงินทอง และ ฮ่าวจื่อเอี๊ย ท่านก็เด่นเรื่องลาภลอยเสียด้วย ไม่ว่าคอหวยหรือนักพนัน สมควรอย่างยิ่งที่จะกราบไหว้ท่าน
ตำนานของ "ฮ่าวจื่อเอี๊ย"
ในส่วนของตำนานความเป็นมานั้น นายเศรษฐพงษ์ จงสงวน สถาปนิกและอาจารย์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและวัฒนธรรมจีน เล่าว่า ฮ่าวจื้อเอี๊ย เป็นความเชื่อคนจีนบางกลุ่ม ส่วนใหญ่แพร่หลายและพบเห็นในชุมชนคนจีนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน อย่างในมาเลเซีย สิงคโปร์ คนจีนฮกเกี้ยน หรือคนถิ่นอื่นก็นับถือตามคนจีนกวางตุ้ง เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่ม
หากถามว่าความเชื่อนี้มาจากไหน เก่าแก่มากแค่ไหน ส่วนตัวคิดว่าไม่เก่ามาก ไม่น่าเกินราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงของจีน มีนิทานเล่าต่อกันมาหลายแบบ โดยส่วนใหญ่เล่าว่า ฮ่าวจื่อเอี๊ย เป็นชายหนุ่มทำนาอยู่กับแม่สองคน ทุกวันแม่จะเอาอาหารมาให้เพราะลูกชายต้องออกมาทำนาตั้งแต่เช้าตรู่ แต่ด้วยความที่แม่แก่ชรา ทำให้มาส่งอาหารช้า กว่าจะเดินมาถึงก็ทำให้ข้าวที่เตรียมมาเย็นชืดหมด ลูกชายที่กำลังโมโหหิวก็จะด่าทอ บางครั้งก็ลงมือทำร้ายแม่ เหตุการณ์วนเวียนอยู่แบบนี้เป็นประจำ ทำให้แม่ไม่กล้าเข้าใกล้ลูกชาย
จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกชายได้เห็นลูกแพะกินนมแม่ ก็คิดได้ว่าคนเราก็เหมือนแพะต้องกินนมแม่ กว่าแม่จะเลี้ยงจนโตมา ทำไมเราทำกับแม่แบบนี้ อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ ลูกชายได้สังเกตเห็นอีกาเอาอาหารมาป้อนให้ลูกกิน ก็รู้สึกว่าได้ทำผิดกับแม่ไปแล้ว เมื่อถึงเวลาที่แม่นำอาหารมาส่ง ซึ่งวันนี้มาช้ากว่าทุกวันทำให้แม่คิดในใจว่าต้องโดนลูกทำร้ายแน่ๆ ฝ่ายลูกชายเห็นแม่เดินมาพร้อมอาหาร ด้วยความรู้สึกผิดก็อยากเข้าไปใกล้ๆ แม่ แต่ด้วยความกลัว แม่เลยวิ่งหนี แล้วกระโดดลงน้ำเสียชีวิต
...
การตายของแม่ทำให้ลูกชายเสียใจมาก ตัดพ้อว่าทั้งที่ตัวเองรู้สึกผิดแล้ว ทำไมแม่ต้องมาตายหนีไปอีก จึงใส่ชุดไว้ทุกข์ ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด แล้วเดินไปเรื่อยๆ จนตกคันนาตาย ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าลูกชายได้สำนึกผิดต่อแม่ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณแล้ว จึงยกย่องให้เป็นวิญญาณกตัญญู จนภายหลังได้มีคนนำมากราบไหว้บูชาเป็นเทพเจ้า
อาจารย์เศรษฐพงษ์ เล่าอีกว่า บางตำนานเรื่องจะยืดยาวกว่านี้ หลังจากแม่ตายไปแล้วก็ได้กลายเป็นขอนไม้ ภรรยาของลูกชายได้นำไม้มาผ่าเป็นฟืน แล้วมีเลือดไหลออกมา ยิ่งทำให้ลูกชายเสียใจจนตายตามแม่ แต่หลักๆ ก็คือส่วนใหญ่สร้างเป็นรูปปั้นชายหนุ่มแต่งชุดไว้ทุกข์คือ ปล่อยผม หน้าตาเศร้าโศก ในมือถือโคมไฟไว้ทุกข์ แล้วก็ถือพัด บางอันก็ถือไม้เท้า ซึ่งไม้เท้ากับตะเกียงเป็นส่วนหนึ่งของการไว้ทุกข์อยู่แล้ว
ตะเกียงมักแขวนไว้หน้าบ้าน ส่วนไม้เท้าจะเอาไว้พยุงตัวเวลาเศร้าโศก ความเชื่อโบราณกล่าวว่า หากพ่อเสียชีวิตให้ทำไม้เท้าจากไม้ไผ่ แต่หากแม่เสียชีวิตให้ทำไม้เท้าจากไม้ต้นเมเปิ้ล
...
ความเชื่อการบูชาวิญญาณ
รูปเคารพของ ฮ่าวจื่อเอี๊ย จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านที่มีความเชื่อเรื่องการบูชาวิญญาณ มักไปขอโชค ขอลาภ ส่วนใหญ่แล้ว ฮ่าวจื่อเอี๊ย จะอยู่กับศาลของเทพที่เกี่ยวกับความตาย เช่น เจ้าหลักเมือง เทพยมราช หรือราชาแห่งนรก เป็นมุมเล็กๆ มุมหนึ่ง
ศรัทธา "ฮ่าวจื่อเอี๊ย" ในประเทศไทย
"ในบ้านเราแทบจะไม่พบเห็น แต่ยังสามารถพบได้คือ ฮ่าวจื่อเอี๊ย ที่ลานวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เนื่องจากสมัยก่อนในละแวกนั้นมีกลุ่มคนกวางตุ้งจะมากราบไหว้
แล้วนำเอารูปปั้นกับผ้าดิบมาพันเป็นชุดไว้ทุกข์ เพื่อเป็นตัวแทนของฮ่าวจื่อเอี๊ย ซึ่งชาวบ้านก็มาไหว้ขอโชคลาภกัน แต่ขอพรแล้วสำเร็จมากน้อยแค่ไหนไม่ทราบได้ และคาดว่าได้มีการตั้งรูปบูชาขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 ก่อน"
...
สำหรับ คนจีนกวางตุ้ง เป็นคนที่มีพื้นเพมาจากมณฑลกวางโจ หรือบริเวณรอบๆ ที่พูดภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งแถววัดมังกรกมลาวาสจะมีชุมชนคนจีน โดยเฉพาะบริเวณร้านบะหมี่จับกังจะมีคนจีนกวางตุ้งเยอะ ส่วนด้านหลังวัดเป็นชุมชนคนจีนฮากกา หรือ จีนแคะ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ส่วนหลักการบูชา ฮ่าวจื่อเอี๊ย ส่วนใหญ่จะไหว้บูชาเหมือนไหว้เจ้าทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ
หลังจากฟังตำนานของฮ่าวจื่อเอี๊ยกันไปแล้ว ใครที่อยากเดินทางไปบูชาฮ่าวจื่อเอี๊ย สามารถเดินทางไปยังวัดมังกรกมลาวาสได้เลย แต่บอกก่อนเลยว่า จุดที่ตั้งของฮ่าวจื่อเอี๊ยนั้น หากไม่สังเกตดีๆ หรือศึกษาข้อมูลมาก่อนแทบจะไม่มีทางเจอได้เลย
สถานที่ตั้ง "ฮ่าวจื่อเอี๊ย" ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่
เมื่อเดินเข้าไปประตูหลักของวัดมังกรกมลาวาส ทางถนนเจริญกรุง จะเจอกับลานกว้าง ด้านหน้าเป็นประตูวัด มีป้ายจารึกชื่อวัดเป็นภาษาไทยเขียนว่า "ทรงพระราชทานนามวัดมังกรกมลาวาส" จากนั้นสังเกตทางด้านซ้ายมือ บริเวณต้นโพธิ์ใหญ่ จากนั้นเข้าไปซอกเล็กๆ ด้านซ้ายมือจะพบกับ ฮ่าวจื่อเอี๊ย นอกจากนี้ยังมีกระบอกเซียมซี และกรับจันทร์เสี้ยว เพื่อเสี่ยงโชคอีกด้วย
การเดินทางมาบูชาสะดวก
ในส่วนของการเดินทางมายังวัดมังกรกมลาวาส หากมาโดยรถส่วนตัวอาจจะหาที่จอดรถค่อนข้างยาก ซึ่งปัจจุบันสามารถมีตัวเลือกที่สะดวกสบายมากขึ้นด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT สถานีวัดมังกร ทางออกที่ 3 ซึ่งใช้เวลาเดินถึงวัดเพียงไม่กี่นาที
สำหรับ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2414 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อวัดอย่างเป็นทางการจากในหลวง รัชกาลที่ 5 ว่า วัดมังกรกมลาวาส มาจนถึงบัดนี้.