ศูนย์ศึกษาภูพานฯ ยินดีต้อนรับ.

นับเป็นความโชคดีของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2525 เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคอีสานในการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นและสามารถนำไปเป็นตัวอย่างของการดำเนินการพัฒนา ขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ เป็นเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และนำความรู้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง

...

บนเส้นทางหลวงหมายเลข 213 จากตัวเมืองสกลนคร (ไปยังกาฬสินธุ์) ไม่ไกล คือที่ตั้งศูนย์ฯดังกล่าว ที่นับจากเริ่มตั้งจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาร่วม 28 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จึงอุดมไปด้วยผลงานที่เรียกได้ว่า “โดดเด่น” 19 ผลสำเร็จ พร้อมนำออกมาเผยแพร่ เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2554 ภายใต้โครงการ “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถ และพระราชดำริผลสำเร็จจากการพัฒนาที่ก่อเกิดประโยชน์และเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมจัดกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงบประมาณ19 ผลสำเร็จที่โดดเด่นของศูนย์ฯ ที่ระบุไว้ประกอบด้วยผืน “ป่าปลูก” ที่อาศัยหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ อันเป็นทฤษฎีการฟื้นฟูป่าที่เรียบง่ายและประหยัด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ตามธรรมชาติให้กลับสู่ป่ายุคดั้งเดิม ซึ่งตอนนี้ทางศูนย์ฯ มีการจัดเส้นทางเดินชมป่าได้อย่างสบาย

ตามด้วยการเลี้ยงโคเนื้อทาจิมะภูพาน การเลี้ยงไก่ดำภูพาน การเลี้ยงสุกรภูพาน การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ลิ้นจี่ นพ.1 การเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อควบคุมศัตรูพืชสวนไม้ผล การผลิตวุ้นเส้นจากถั่วเขียว การเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบาลี การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ เกษตรทฤษฎีใหม่ การจัดการดินเค็มเพื่อปลูกข้าว การจัดการดินลูกรังเพื่อปลูกไม้ผล การเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดพื้นเมือง การปลูกยางพารา หม่อนพันธุ์สกลนครและไหมพันธุ์นางตุ่ยสกลนคร การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร และการผลิตผ้าย้อมครามรวมแล้วมาดูที่เดียวมีครบงานพัฒนา ทั้งด้านแหล่งน้ำ ป่าไม้ บำรุงดิน

...

ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมและพัฒนาด้านอาชีพ ซึ่งรวมศาสตร์ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม ทำนา ไร่ สวน ด้านปศุสัตว์ ประมง ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่มีครบทั้งของกินและของใช้และภายใต้จุดเด่นทั้งหมด ก็มี “ดาวเด่น” ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานของศูนย์การศึกษาภูพานฯ คือ “ของดำสามอย่าง” ได้แก่ ไก่ดำ ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์จนได้ไก่ดำตั้งแต่ขนยันเครื่องใน ส่วน ดำที่สอง คือ หมูดำ เป็นการนำหมูพันธุ์เหมยซานจากจีนมาผสมกับหมูพันธุ์พื้นเมือง จนได้หมูสายพันธุ์ภูพาน 1 มีลักษณะลำตัวดำ เล็บดำ แต่เนื้อในแดง มันน้อย และเลี้ยงง่าย

...

ดำที่สาม ก็คือ โคเนื้อทาจิมะ ที่เป็นสายพันธุ์หนึ่งของเจแปนนิสแบล็กมาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ จนได้ โคเนื้อทาจิมะภูพาน ที่มีขนปกคลุมกายสีดำสนิท แต่ให้เนื้อที่มีคุณภาพสูง ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งดำ ที่น่าผนวกเข้าไว้ด้วยกันได้ก็คือ ข้าวโพดดำ พันธุ์ตักหงาย ที่นักวิชาการเกษตรนำพันธุ์จากลาวมาผสมกับพันธุ์พื้นเมืองของไทย จนได้ข้าวโพดเม็ดดำสนิททั้งฝัก น่าจะ “โดนใจ” คนชอบของแปลก แถมรสชาติยังอร่อย ไม่เหนียวเกินไป เพียงแต่คนปลูกต้องเข้าใจธรรมชาติอยู่บ้างว่า ในหนึ่งต้นข้าวโพด ไม่ได้ผลดำล้วนตลอดฝักทั้งหมด แต่อาจมีฝักกระดำกระด่างคละเคล้าอยู่ด้วยและด้วยพื้นที่กว่า 2 พันไร่ แต่การชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯให้จบในวันเดียว ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทางศูนย์ฯมีบริการรถพ่วงพาชม และแม้ ศูนย์ศึกษาฯ อาจจะยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้เป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ขึ้นหน้าขึ้นตาของเมืองสกล แต่สำหรับผู้สนใจเดินทางหาความรู้ใหม่ๆใส่ตัว โดยเฉพาะความรู้เพื่อการทำมาหากิน หรือจะมาอุดหนุนสินค้าชุมชนคนสกลแท้ๆ ก็สามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์แห่งนี้ได้ทุกวัน หรือโทรศัพท์สอบถามกิจกรรมในศูนย์ฯ ได้ที่ 0-4274-7458-9 หรือดูทางเว็บไซต์ http://royal.rid.go.th/phuphan

มาให้เห็นด้วยตา แล้วจะเข้าใจกับคำที่ว่า “ความรู้มีอยู่ทั่วแห่งหน เรียนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด” ที่สำคัญ “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เพราะถึงแม้ไม่ใช่เกษตรกร ก็สามารถนำหลักคิดของผู้รู้จริงในแต่ละส่วนไปปรับใช้ได้...แล้วจะรู้ว่าการมีชีวิตที่เรียบง่ายในป่าคอนกรีตนั้น...ทำเองได้...ไม่ยากเลย.