สภาพหมู่บ้านและกระชังปลาของชาวเกาะปันหยี.
“ไปเล่น ฟุตบอลกลางทะเลกันมั้ย” ถ้าใครลองเอ่ยปากชวนคุณแบบนี้ อาจคิดว่าไอ้หมอนี่มันคงบ้าไปแล้ว แต่พอได้ดูภาพยนตร์โฆษณาที่มีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งเล่นฟุตบอลกันบนสนามไม้ที่ลอยอยู่กลางทะเลแล้วอด ทึ่งไม่ได้ว่า เรื่องราวแบบนี้มีอยู่จริงด้วยหรือ? คำตอบคือใช่ มันมีอยู่จริง ณ เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา
เกาะปันหยี ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน เป็นเกาะหินปูนขนาดเล็ก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาสูงชัน ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อราว 200 ปีก่อน มีชาวประมงชาวมุสลิม 3 ครอบครัว คือ โต๊ะบาบู ชาวมลายู, โต๊ะปรัง ชาวตรัง และโต๊ะหลง ชาวนครศรีธรรมราช ล่องเรือผ่านมาและเห็นว่าเกาะแห่งนี้มีความสวยงามอยู่ใกล้ แผ่นดินใหญ่ มีฝูงปลาชุกชุม จึงเริ่มตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก คนทั่วไปเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ปันยี” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า “ธง” เพราะรูปร่างของเกาะคล้ายผืนธงรูปสามเหลี่ยมไว้บูชาสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีบวงสรวง
...
ส่วนอีกตำนานเล่าว่า เมื่อราว 200 ปีก่อน มีชาวมลายูกลุ่ม หนึ่งพากันมาหาที่ทำกินแห่งใหม่ เมื่อลอยเรือมาถึงอ่าวพังงา ปรากฏว่าเรือเกิดอับปางลงเพราะโดนพายุ ส่วนหนึ่งเสียชีวิตในทะเล ที่เหลือก็ว่ายน้ำมาจนถึงเกาะแห่งนี้ และได้ปักธงขอความช่วยเหลือไว้บนเกาะเพื่อให้เรือที่ผ่านมา เห็น จึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า “เกาะปันยี” และยังเล่ากันอีกว่า คนที่ลอยคอรอความช่วยเหลืออยู่กลางทะเล ได้อธิษฐานว่าถ้ารอดชีวิตจะนำธงไปปักบนแผ่นดิน เมื่อขึ้นเกาะได้ก็นำธงไปปักแก้บนตามที่อธิษฐานไว้ ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “เกาะปันหยี”
ปัจจุบันชุมชนเกาะปัน หยี มีอยู่ไม่กี่ร้อยครัวเรือน ผู้คนนับถือศาสนาอิสลาม และมีกฎเหล็กของชุมชน ห้ามนำ 3 ส. ขึ้นเกาะคือ สุกร สุนัข และสุรา แต่เดิมชาวเกาะจะยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้าน แปรรูปอาหารทะเล อาทิ ปลาแห้ง กะปิ น้ำปลา น้ำพริกกุ้งเสียบ ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ เช่น เครื่องประดับมุก เป่าแก้ว และผ้าบาติก แต่ในระยะหลังการท่องเที่ยวกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างเม็ดเงิน เข้าสู่ชุมชนมหาศาล เพราะใกล้ๆเกาะปันหยี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ เขาหมาจู เขาพิงกัน เขาตะปู สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง เจมส์บอนด์ 007 เกาะปันหยี เลยเป็นแหล่งที่พักและแวะรับประทานอาหารของคณะทัวร์
สภาพบ้านเรือนของชุมชนชาวเกาะปันหยี มีลักษณะเป็นบ้านกลางน้ำ ปักเสาปลูกเรือนกันในทะเล เรียงรายไปรอบเกาะ ทั้งชุมชนมีที่ราบอยู่เพียงไม่กี่ร้อยตารางวา เก็บไว้ใช้สร้างมัสยิด และกุโบร์ หรือสุสาน ฉะนั้น เรื่องจะหาผืนดินเพื่อทำสนามฟุตบอลให้เด็กเล่นเลิกคิดไปได้ เลย แต่ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว กลับทำให้เด็กๆกลุ่มหนึ่งเกิดความคิดที่จะสร้างสิ่งที่เป็นไป ไม่ได้ให้เป็นไปได้ และยังทำได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ
ประสิทธิ์ เหมมินทร์ ผู้ริเริ่มทีมฟุตบอลเกาะปันหยี ย้อนอดีตเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนให้ฟังว่า สมัยเด็กๆได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลก และเกิดอยากจะเล่นฟุตบอลบ้าง แต่บ้านเราไม่มีผืนดินจะให้สร้างสนามฟุตบอลได้เลย ด้วยแรงบันดาลใจเราเลยคิดสร้างสนามฟุตบอลลอยน้ำขึ้นมา ชาวบ้านยังบอกว่าไอ้เด็กพวกนี้มันเพี้ยน แต่เราไม่สนใจ ไม่ยอมแพ้ เราช่วยกันหาเศษไม้มาสร้างสนามขึ้นบนโป๊ะเก่าๆ ทำไปเรื่อยๆ วันละนิดจนสำเร็จ และเริ่มเล่นกันสนุกๆ นักฟุตบอลอย่างเราแตกต่างจากคนอื่นคือต้องเป็นนักว่ายน้ำด้วย เพราะลูกบอลหล่นน้ำบ่อยมากต้องว่ายไปเก็บเหนื่อยแทบขาดใจ แต่นั่นเป็นการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่ง
...
“จากนั้นก็เริ่มตระเวนแข่งขันกับทีมอื่นๆที่อยู่บนฝั่ง แรกๆแพ้ทุกครั้งเพราะเราไม่คุ้นเคย แต่ผ่านไปสักพักเราเริ่มชนะ ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก สิ่งสำคัญคือพวกเราสามารถก้าวข้ามอุปสรรค และทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้ นี่ต่างหากคือความสำเร็จ ภายหลังภาพยนตร์โฆษณานำเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเราเผยแพร่ออก ไป ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จักเกาะปันหยีมากขึ้น วันนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาเยือนเกาะปันหยี พอมาถึงก็ถามหาสนามฟุตบอลไม้ลอยน้ำก่อนอื่นเลย จนกลายเป็นสีสันประจำเกาะแห่งนี้ไปแล้ว ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราทำกันเล่นๆสมัยเด็กๆ จะกลายเป็นสิ่งดีๆที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน ในอนาคต” อดีตขุนพลนักเตะกล่าวอย่างภาคภูมิ
...
ขณะที่ ภารไดย ธีระธาดา ผช.กก.ผจก.ใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย TMB บอกถึงเหตุผลในการนำตำนานที่ยังหายใจมาถ่ายทอดว่า เรื่องราวของเด็กๆกลุ่มหนึ่งบนเกาะปันหยีที่รักการเล่นฟุตบอล เป็นชีวิตจิตใจ แต่พวกเขาไม่มีผืนดินที่จะสร้างสนามฟุตบอล ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะพวกเขากล้าคิดต่าง ก้าวข้ามผ่านความยากลำบาก จนสามารถครองแชมป์ฟุตบอลเยาวชนภาคใต้ได้ถึง 7 สมัย เราจึงนำแรงบันดาลใจนั้น มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์โฆษณา ชุด Make The Difference–พลังในตัวคุณเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นลุกขึ้นมาสู้และเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆในชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น และยังเป็นการจุดประกายให้ผู้คนรู้จักคิดในสิ่งที่แตกต่าง อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม.