ตอนที่ยังเล็กๆ เสือจากัวร์เพศผู้ตัวนี้ถูกลักลอบนำขึ้นรถโดยสารทางตอนใต้ของโคลอมเบีย และกำลังมุ่งหน้าไปยังตลาดมืดค้าสัตว์เลี้ยงตอนถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แม่เสือถูกชาวไร่ฆ่าเพราะมันกัดวัวตัวหนึ่งของเขา เนื่องจากลูกเสือตัวนี้ไม่เคยฝึกทักษะการเอาตัวรอดจากแม่ มันจึงไม่มีโอกาสได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ
ศิษย์ของอาจารย์ฮวน ฟลอเรส ถือถ้วยพลาสติกใบเล็กที่มีใบผ่านเข้าสู่โลกแห่งจิตวิญญาณของเสือจากัวร์มาให้ผม ในนั้นมี “ลา เมดีซีนา” สมุนไพรสีน้ำตาลข้นที่เคี่ยวจากใบชากรูนาและเถาอะยาวัสกานานสองวันและกรอกใส่ขวดน้ำเก่าๆ ไว้ ตอนเริ่มพิธี อาจารย์ฮวนปลุกเสกยาหม้อนี้ด้วยการพ่นควัน มาปาโช หรือใบยาสูบป่าของแอมะซอน จากนั้นก็เริ่มรินยาปริมาณเล็กน้อยใส่จอกเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เข้าร่วมพิธีแต่ละคน
พวกเรา 28 คน ซึ่งมาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา และเปรู ล้วนมุ่งหน้ามาเพื่อค้นหาบางสิ่ง ณ ค่ายพักห่างไกลแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่กลางผืนป่าแอมะซอนในเปรู บางคนหวังจะพบหนทางรักษาโรคร้าย บางคนแสวงหาเส้นทางชีวิต บางคนแค่อยากแย้มมองอีกโลกหนึ่งอันเป็นซอกมุมสุดลี้ลับของบริเวณที่อลัน ราบิโนวิตช์ เรียกรวมๆ ว่า “ฉนวนวัฒนธรรมจากัวร์” พื้นที่นี้ครอบคลุมถิ่นอาศัยและเส้นทางอพยพซึ่งแพนเทอรา (Panthera) องค์กรอนุรักษ์ของเขา กำลังพยายามปกป้องเพื่ออนุรักษ์เสือจากัวร์ที่คาดว่ามีอยู่ราว 100,000 ตัว และความหลากหลายทางพันธุกรรมของพวกมันเอาไว้
สมุนไพรถูกส่งไปเงียบๆ ท่ามกลางเสียงรินไหลของสายน้ำที่มีไอจางๆ ลอยอ้อยอิ่งในอากาศเย็นยามค่ำคืน เมื่อศิษย์ของอาจารย์ฮวนเดินมาหยุดข้างหน้า ผมก็คุกเข่าลง ศิษย์คนหนึ่งส่งจอกให้ อีกคนยืนถือแก้วน้ำเปล่ารออยู่ ผมลังเล นึกถึงคำพูดที่ กูรันเดโร หรือหมอผีชื่อดังนามดอน โฮเซ กัมโปส บอกผมในปูกัลล์ปา เมืองท่าอันวุ่นวายของเปรู ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น
“คุณไม่ได้ดื่มอะยาวัสกาหรอก” เขาบอก “มันดื่มคุณ”
ผมยกจอกขึ้นดื่ม
...
ผมมาหาอาจารย์ฮวนที่มายันตูยากู ชุมชนบำบัดโรคด้วยการทรงเจ้าเข้าผีที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 โดยหวังจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับเสือจากัวร์ โดยเฉพาะในแง่มุมที่กล้องดักถ่ายภาพไม่อาจจับภาพได้ เสือจากัวร์ หรือ แพนทีรา ออนคา (Panthera onca) เคยเป็นสัตว์กินเนื้อที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ พวกมันทั้งสง่างามและดุร้ายในเวลาเดียวกัน พรางตัวเก่งเป็นเลิศ แคล่วคล่องว่องไวในแม่น้ำ บนพื้นป่าและบนต้นไม้ ในบรรดาแมวใหญ่ทั้งหมด เสือจากัวร์มีแรงกัดที่ทรงพลังที่สุดเมื่อเทียบกับขนาดตัว และที่โดดเด่นจากเพื่อนแมวใหญ่อื่นๆ คือ พวกมันมักโจมตีบริเวณศีรษะของเหยื่อมากกว่าลำคอ โดยแรงกัดมักทะลุสมองจนทำให้เหยื่อตายคาที่
แต่เสือจากัวร์มีชีวิตอีกภาคหนึ่งมานานหลายพันปีแล้ว นั่นคือชีวิตสมมติที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะและโบราณคดีในหลายวัฒนธรรมยุคก่อนโคลัมบัส ตลอดพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยในประวัติศาสตร์ของเสือชนิดนี้ ตั้งแต่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ไปจนถึงอาร์เจนตินา ชนเผ่าโอลเม็ก มายา แอซเทก และอินคา ล้วนนับถือเสือจากัวร์เป็นเทพเจ้า บางชนเผ่าในแอมะซอนดื่มเลือดเสือจากัวร์ กินหัวใจเสือจากัวร์ และสวมหนังเสือจากัวร์ ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า มนุษย์สามารถกลายร่างไปเป็นเสือจากัวร์ได้ และเสือจากัวร์ก็กลายร่างเป็นมนุษย์ได้
แน่นอนว่า แง่มุมลึกลับที่สุดในชีวิตภาคที่สองของเสือจากัวร์อยู่ในอาณาจักรพ่อมดหมอผี และสภาวะการตื่นรู้อันพิเศษสุดที่ชนพื้นเมืองแห่งลุ่มน้ำแอมะซอนตอนบนได้สัมผัสมานานนับพันปีจากการเสพพืชที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในอาณาจักรแห่งมนตราซึ่งหมอผีพื้นเมืองอ้างว่า พวกเขาสามารถสืบหาสาเหตุแห่งโรคาพยาธิทั้งมวล และค้นพบวิธีรักษาได้ด้วยความช่วยเหลือของวิญญาณ เสือจากัวร์เป็นใหญ่ในฐานะพันธมิตร ผู้พิทักษ์ และการดำรงอยู่ที่สำคัญต่อการขจัดปัดเป่าความเจ็บไข้ได้ป่วย เร่งกระบวนการแปรสถานะ และขับไล่พลังงานชั่วร้าย ท่ามกลางหมู่ภูตผีมากมายแห่งแอมะซอนที่เชื่อกันว่าสิงสถิตอยู่ตามทะเลสาบและแม่น้ำ ในส่ำสัตว์และพืชพรรณราว 80,000 ชนิดที่กอปรขึ้นเป็นระบบนิเวศสุดอัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก เสือจากัวร์อยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุด
...
อะยาวัสกาในจอกรสชาติคล้ายดิน หวานแหลมเหมือนกากน้ำตาล เมื่อจอกสุดท้ายถูกแจกจ่ายออกไป แสงไฟก็ดับ และความมืดจากผืนป่าก็คลี่ตัวปกคลุมอย่างรวดเร็ว
ครึ่งชั่วโมงต่อมา อาจารย์ฮวนผู้ส่งสัญญาณว่า รู้สึกถึงฤทธิ์สมุนไพรที่เขาดื่มพร้อมคนอื่นๆแล้ว เริ่มสวด อีกาโร บทแรก เป็นการท่องบ่นวลีจากภาษาต่างๆ เขานั่งขัดสมาธิ สวมเสื้อคลุมยาวลายทาง เครื่องประดับศีรษะทำด้วยขนนกแก้วสีเขียวสด และสร้อยคอที่ร้อยจากเปลือกหอยทาก เมล็ด อวยรูโร และเขี้ยวเสือจากัวร์ บทสวดของเขาดูเหมือนจะทำให้พลังงานเคลื่อนผ่านห้องนั้น
ผู้เข้าร่วมพิธีที่ยังไม่รู้สึกถึงฤทธิ์ของสมุนไพร ดื่มถ้วยที่สอง พลางส่องไฟฉายจากโทรศัพท์ไอโฟนไปยังอาจารย์ฮวน ผู้ร่ายมนตร์เรียกวิญญาณของนกบางชนิดมา ต่อมาไม่นาน ผมได้ยินเขาเรียกเสือจากัวร์ให้มาที่นี่ ผมลืมตาและพบว่า เขาเดินรอบเสื่อที่ปูเป็นวงกลมมานั่งตรงหน้าผม
เขาบอกผมในภายหลังว่า เสือจากัวร์มาและนั่งอยู่ปากทางเข้าศาลา แต่อยู่ไม่นาน “พวกมันมาแค่พักเดียว” เขาบอก “จากนั้นก็บ่ายหน้ากลับเข้าป่าลึก”
สิ่งที่ผมเห็นตลอดสามชั่วโมงต่อมาคือประสบการณ์ที่เปิดโลกที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ช่วงเวลาที่อะยาวัสกาออกฤทธิ์เรียกว่า มาเรอาซิออน แปลตรงตัวว่า “ความวิงเวียน” ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับความรู้สึกของการถูกส่งไปอีกโลกหนึ่ง ในกรณีของผม ไม่ใช่โลกวิญญาณของเสือจากัวร์ แต่เป็นอาณาจักรลับของเหล่าพืช ผมรู้สึกเข้าใจในฉับพลันถึงความรู้สึกของหนอนที่ชอนไชไปตามโลกอันมืดมิดและคับแคบของรากพืช และการได้ล่วงรู้ดุจเดียวกับการสัมผัสรับรู้ถึงความรักหรือความโทมนัสภายในใจว่า พืชมีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากสัตว์ เปี่ยมปัญญา ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งที่ดูประหนึ่งวิญญาณแบบหนึ่งโดยแท้
...
ไม่กี่วันต่อมา รูโซเล่าให้ผมฟังเรื่องนิมิตที่ศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ฮวนเห็นในช่วงทำพิธี เขาเห็นโครงกระดูกเสือจากัวร์ตัวหนึ่งกองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบอยลิ่ง ครบสมบูรณ์ทั้งขา ซี่โครง กะโหลก อาจารย์ฮวนกับรูโซหารือกันเรื่องความหมายของนิมิตนี้อยู่นาน
อาจารย์ฮวนตีความโครงกระดูกในนิมิตนั้นว่า เสือจากัวร์ ไม่ว่าในรูปแบบใด ไม่อาจปกป้องผืนป่ารอบๆ มายันตูยากู ได้อีกต่อไป ตอนนี้เขาสิ้นข้อสงสัยแล้วว่า การรักษาป่าผืนนี้เอาไว้ขึ้นอยู่กับตัวเขา และนักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกหนทุกแห่ง ที่ชื่นชมในพลังและความสง่างามของเสือจากัวร์
...
เรื่อง ชิป บราวน์
ภาพถ่าย สตีฟ วินเทอร์