ความสวยงามภายในโบสถ์ซางตาครู้ส.

สัปดาห์ก่อน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โลเคิล อไลค์ ผู้นำด้านการท่องเที่ยวสไตล์ชุมชน จัดกิจกรรมท่องเที่ยวภายใต้ธีม Colours of Boutique Stay : One day in BANGKOK มุมมองใหม่ในวันเดียว เชิญชวนคนไทยให้หันมาท่องเที่ยวแนววิถีชุมชนมากขึ้น โดยเลือก “ชุมชนกุฎีจีน” ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี เป็นชุมชนนำร่องของการท่องเที่ยวคราวนี้

จะว่าไปเรื่องของฝรั่งในเมืองสยามก็มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน่น แต่สำหรับที่กุฎีจีนนี้ ต้องถือว่า เป็นย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

เรือนไม้เก่าริมเจ้าพระยา.
เรือนไม้เก่าริมเจ้าพระยา.

ชื่อของชุมชนกุฎีจีน เริ่มเกิดขึ้นจากการที่พ่อค้าชาวจีนมาหยุดตรวจสภาพเรือและสินค้า ก่อนจะเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ได้มาสร้างศาลเจ้าไว้ และในศาลเจ้า มีพระภิกษุจีนมาพำนักอยู่จึงเป็นที่มาของชื่อกุฎีจีน ต่อมา พ่อค้าฝรั่งและมุสลิม เมื่อต้องมาพักแรมที่นี่ ก็นำเงินที่ได้จากการค้าขายมาสร้างศาสนสถานของตน ในชุมชนแห่งนี้จึงมีทั้งวัด ศาลเจ้า โบสถ์คริสต์ และมัสยิดอยู่ในที่เดียวกัน เป็นที่มาของชื่อชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ การท่องเที่ยวในชุมชนกุฎีจีน จึงเป็นเสมือนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ตลอดช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา

...

วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันเห็นจะเป็นวัฒนธรรมของฝรั่งโปรตุเกสที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งรกรากอยู่ที่นี่

โบสถ์ซางตาครู้ส...ด้านหน้า.
โบสถ์ซางตาครู้ส...ด้านหน้า.
เรือจำลองคาร์แร็ก ของโปรตุเกส.
เรือจำลองคาร์แร็ก ของโปรตุเกส.

ชุมชนใหญ่ๆของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในเมืองไทย นอกจากที่กุฎีจีนแล้ว ก็มีที่วัดคอนเซ็บชัญอีกแห่งหนึ่ง สำหรับที่กุฎีจีนนั้น จากประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ระบุว่า เมื่อพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว คุณพ่อกอร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและพาพวกเข้ารีตหลบหนีไปอยู่เขมรเมื่อกรุงแตก ได้กลับมาพร้อมพวกเข้ารีตและได้พบหมู่คริสตังจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่รวมกันใกล้ป้อมที่บางกอก จึงได้ขอพระราชทานที่ดินบริเวณนี้จากพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อสร้างโบสถ์ ตั้งชื่อว่า “โบสถ์ซางตาครู้ส” เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกเก่าแก่อันดับ 2 รองจากวัดคอนเซ็ปชัญ ที่สามเสนฝั่งตะวันออก

หากจะนับกันที่ความสวยงาม โบสถ์ซางตาครู้สอาจไม่ใช่โบสถ์ที่สวยที่สุด แต่เป็นโบสถ์ที่มีประวัติศาสตร์ของชาวคาทอลิกให้จดจำหลายอย่าง คำว่า “ซางตาครู้ส” เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า “กางเขนศักดิ์สิทธิ์” ตัวอาคารของโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกและเรเนอซองซ์ ลักษณะโดดเด่น คือ หอระฆังทรงแปดเหลี่ยมประดับด้วยไม้กางเขนบนยอด ตัวอาคารก่ออิฐประดับลายปูนปั้น ส่วนล่างเป็นห้องโถงประกอบด้วยซุ้มโค้งที่สอดรับกัน ตกแต่งด้วยกระจกสีที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากพระคัมภีร์ รวมทั้งกระจกสแตนกลาส 3 บาน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้ตัวโบสถ์จะถูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง จนต้องสร้างใหม่เป็นหลังที่ 3 คือ หลังปัจจุบันที่ยังคงอยู่นี้

สิ่งที่ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันสำหรับชุมชนกุฎีจีนอีกเรื่อง เห็นจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน โดยเฉพาะ “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นขนมโบราณที่ยังคงยึดสูตรตามตำรับดั้งเดิมของชาวโปรตุเกส เป็นลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง มีลักษณะคล้ายขนมไข่ ตัวขนมเป็นต้นตำรับของโปรตุเกส ขณะที่หน้าของขนมเป็นแบบจีน ที่ประกอบไปด้วยฟักเชื่อม ซึ่งคนจีนเชื่อกันว่าถ้าทานแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข

...

กรรมวิธีในการทำขนมฝรั่งแบบนี้ ไม่ยาก เริ่มจากการตีไข่และน้ำตาลให้ขึ้นฟู แล้วนำมาผสมกับแป้งสาลี ก่อนจะนำมาหยอดใส่พิมพ์แล้วเข้าเตาอบโบราณ ทำให้ขนมมีความกรอบนอกนุ่มใน และมีความหอมแบบเฉพาะตัว

ขนมฝรั่งกุฎีจีน.
ขนมฝรั่งกุฎีจีน.
“ช่อม่วง-กระทงทอง” สำรับของว่าง...บ้านสกุลทอง.
“ช่อม่วง-กระทงทอง” สำรับของว่าง...บ้านสกุลทอง.

...

สำหรับทริปนี้ นอกจากคนจัดจะให้เราได้ชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนแล้ว ยังพาไปลิ้มสำรับกับข้าวชาวกุฎีจีนที่ บ้านสกุลทอง ที่มีทั้งขนมช่อม่วง กระทงทอง แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็น ค้างคาวเผือก ซึ่งเป็นตำรับของว่างชาววัง ต้นตำรับเจ้าครอกทองอยู่ รสชาติของไส้ขนมคล้ายหน้าของข้าวเหนียวหน้ากุ้ง เพราะทำจากมะพร้าวผัดกับกุ้งสับและมันกุ้ง หอมด้วยส่วนผสม 3 เกลอ คือ กระเทียม พริกไทย และรากผักชี ส่วนตัวแป้งที่นำมาห่อไส้ เป็นแป้งสาลีผสมกับเผือกแล้วเติมหัวกะทิไปนิดหน่อยเพื่อให้มีความหอมมันน่ารับประทาน กินกับอาจาด...อร่อยจนหยุดไม่อยู่เลยทีเดียวเชียว ส่วนกระทงทองที่นี่ ก็มีชื่อแปลกไปจากกระทงทองที่อื่น เรียกว่า กระทงทองสัพแหยก ซึ่งมาจากรากศัพท์โปรตุเกส ว่า ซับเช่ ที่หมายถึงเครื่องปรุงสูตรโปรตุเกสที่ประกอบด้วย หมูสับ มันฝรั่งหั่นลูกเต๋า และเครื่องเทศสไตล์โปรตุเกส

ค้างคาวเผือก.
ค้างคาวเผือก.

อีกที่ที่ไม่ควรพลาดถ้ามาเที่ยวชุมชนกุฎีจีน คือ พิพิธภัณฑ์กุฎีจีน ซึ่ง “พี่ตอง” นาวินี พงษ์ไทย เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับ คุณโต๋-ฉัตรชัย พงษ์ไทย ด้วยต้องการเก็บรักษา สืบทอดประวัติศาสตร์และเสน่ห์ของชุมชนกุฎีจีนไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ โดยการรวบรวมข้อมูลของชาวโปรตุเกสในเมืองสยามที่มีเรื่องราวต่างๆมากมาย รวมทั้งนำของที่เก็บสะสมมาตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่ามาจัดแสดงด้วย

...

สำคัญคือ ตัวพี่ตอง เองนั้น เป็นทายาทครอบครัวทหารโปรตุเกสที่ร่วมรบมากับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็น 1 ใน 16 นามสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสด้วย

ภายในโบสถ์ซางตาครู้ส.
ภายในโบสถ์ซางตาครู้ส.

ใครมาเที่ยวชุมชนกุฎีจีน ไม่ควรพลาดที่จะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน...โดยเด็ดขาด...

นอกจากนี้ ชุมชนกุฎีจีนยังมีศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์อย่างศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือเทียนอันก๋ง แล้วแต่จะออกเสียง ศาลเจ้าแม่กวนอิม และเรือนไม้เก่าริมน้ำที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้ชม รวมทั้งเรือนจันทนภาพ เรือนไทยเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี ที่ คุณป้าแดง...จารุภา จันทนภาพ ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

รูปภายในพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน.
รูปภายในพิพิธภัณฑ์กุฎีจีน.

น่าเสียดายที่เวลามีน้อย ฝนฟ้าก็ไม่เป็นใจเอาเสียเลย ฝากไว้ก่อน...กุฎีจีน ใกล้ๆแค่นี้ แล้วจะกลับมากินขนมหวานไทยที่เขาเล่าว่ามาจากโปรตุเกส ทั้ง ฝอยทอง ทองหยอด พร้อมชิมอาหารของโปรตุเกสที่ตกทอดกันมาถึงปัจจุบันอีกหลายเมนู ไม่วาจะเป็นหมูซัลโม ต้มเค็มโปรตุเกส ไปจนถึง โมฟาโด...แกงส้มโปรตุเกสอันเลื่องชื่อ...

รับรองว่า...ไม่นานเกินรอ...!!!