หากคุณไม่ได้ชอบการทำงานหนัก 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกสัปดาห์ มีข่าวดี บิล เกตส์ คาดการณ์ว่าในอีกเพียง 10 ปี มนุษย์อาจจะทำงานเพียงสองวันต่อสัปดาห์ และทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณปัญญาประดิษฐ์ 

บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ ได้แสดงทรรศนะว่า ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ โดยคาดการณ์ว่าภายในอีกราว 10 ปี มนุษย์อาจมีความจำเป็นต้องทำงานน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในการให้สัมภาษณ์ล่าสุด ในรายการ The Tonight Show ของจิมมี ฟอลลอน เกตส์กล่าวว่า AI มีศักยภาพที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ทำให้เกิดคำถามถึงนิยามของ "งาน" ในอนาคต และเสนอแนวคิดว่า สัปดาห์การทำงานอาจลดลงเหลือเพียง 2 หรือ 3 วัน ซึ่งสอดคล้องกับที่เขาเคยกล่าวไว้เมื่อปี 2023 ในรายการพอดแคสต์ What Now? ของเทรเวอร์ โนอาห์

แนวคิดเรื่องการลดวันทำงานได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลบางส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ เช่น การศึกษาในบริษัทแห่งหนึ่งพบว่าการเปลี่ยนไปทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ 24 เปอร์เซ็นต์ และลดภาวะหมดไฟลงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างจากภาครัฐ เช่น กรุงโตเกียวที่ประกาศนำร่องนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

...

เกตส์ยังได้ระบุถึงสายงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์และครู แต่เขามองว่าจะเป็นไปในเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม เขากล่าวว่า ด้วย AI ในทศวรรษหน้า ความรู้ความสามารถจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งคำแนะนำทางการแพทย์ที่ยอดเยี่ยม และการสอนพิเศษที่มีคุณภาพ แม้ว่าเขาจะบอกว่ามนุษย์จะสงวนงานบางอย่างไว้ เช่น การเล่นเบสบอลอาชีพ เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ เขามองเห็นภาพของโลกที่ AI ทำงานเกือบทุกอย่าง จะมีบางสิ่งที่เราเก็บไว้ทำเอง แต่ในแง่ของการผลิตสิ่งของ การขนส่งสิ่งของ และการปลูกอาหาร เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นปัญหาที่ถูกแก้ไขได้

ในภาพรวม แนวโน้มดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับ AI ข้อมูลจาก LinkedIn ระบุว่า ความรู้ความเข้าใจด้าน AI หรือ AI literacy เป็นทักษะที่มีการเติบโตเร็วที่สุดสำหรับปี 2025 ซึ่งบ่งชี้ว่า การเปิดรับและเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จในโลกการทำงานยุคต่อไป

ที่มา: Fourtune