โอเพนเอไอชี้ข้อมูลที่เป็นการบ่งบอกว่าการโต้ตอบกับแชทบอทเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ใช้งาน และอาจกระทบต่อสุขภาพจิตในที่ทำงานได้อีกด้วย
ในขณะที่องค์กรต่างๆ เร่งนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ผลการศึกษาล่าสุดจากโอเพนเอไอ ผู้สร้าง ChatGPT และ MIT Media Lab ได้ส่งสัญญาณเตือนที่น่าสนใจว่าการโต้ตอบกับแชทบอทเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหงามากขึ้น และลดทอนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตจริง
งานวิจัยซึ่งนำเสนออย่างระมัดระวัง พบว่า แม้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาพูดคุยกับแชทบอทไม่นานนัก แต่มีกลุ่มผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่เรียกว่า ผู้ใช้ตัวยง หรือ Power users ซึ่งมีส่วนร่วมกับการสนทนาเป็นระยะเวลานานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มนี้เองที่แสดงความสัมพันธ์กับการมีความรู้สึกเหงา การพึ่งพา AI และการใช้งานที่เป็นปัญหา (Problematic use) สูงขึ้น ขณะที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่ำลง
ผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับคำเตือนก่อนหน้าของดร. วิเวก เมอร์ธี ที่เคยกล่าวถึงโรคระบาดของความเหงาและความโดดเดี่ยวในสังคมอเมริกัน โดยชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอย่างลึกซึ้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือ งานวิจัยพบว่า น้ำเสียงหรือบุคลิกของ AI มีผลอย่างมาก เมื่อสั่งให้ ChatGPT ตอบสนองด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลาง เรียบเฉย กลุ่มผู้ใช้งานตัวยงกลับรู้สึกเหงามากขึ้น แต่เมื่อ AI ถูกปรับให้มีบุคลิกที่มีชีวิตชีวา และน่าดึงดูด หรือสะท้อนอารมณ์ของผู้ใช้ ความรู้สึกเหงานี้กลับลดลง เปรียบได้กับการคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ไร้อารมณ์ เทียบกับการมีเพื่อนร่วมงานดิจิทัลที่ตอบสนองอย่างเข้าอกเข้าใจ
แม้ผลการศึกษานี้ไม่ได้หมายความว่าควรแบน AI ในที่ทำงานทันที แต่มันก็กระตุ้นให้เกิดคำถามสำคัญสำหรับองค์กรที่กำลังผลักดันการใช้ AI อย่างเต็มที่ เช่น เราควรจำกัดเวลาที่พนักงานใช้กับแชทบอทหรือไม่? และ เราควรใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้นในยุค AI หรือไม่?
...
ปัจจุบัน AI จำนวนมากยังทำงานอยู่เบื้องหลัง เป็นเหมือนผู้ช่วยดิจิทัลที่ชาญฉลาดขึ้น มากกว่าจะเป็นคู่สนทนาเต็มรูปแบบ การใช้ Copilot ช่วยร่างอีเมลใน Outlook อาจไม่ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์เท่ากับการนั่งคุยกับ ChatGPT ตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มชัดเจนว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทเชิงปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ผู้บริหารกูเกิลรายหนึ่งเล่าว่าเธอเปลี่ยนจากการโทรหาพี่สาวของเธอระหว่างเดินทาง มาเป็นการคุยกับ Gemini Live แทน ขณะที่ผู้บริหารของแอปพลิเคชัน Slack จินตนาการถึงอนาคตที่พนักงานจะคุยกับ AI Agent มากกว่าเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
การใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้อาจผลักดันให้พนักงานจำนวนมากกลายเป็นผู้ใช้ตัวยง โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความเหงาตามที่งานวิจัยชี้ให้เห็น
ที่มา: Inc.