เตือนประชาชนตรวจสอบยอดเงินในบัญชีทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม โดยเฉพาะการรับโอนเงิน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากสลิปธนาคารปลอมที่ฟีเจอร์ใหม่ “Images in ChatGPT” ของ Chat-GPT ทำได้ หากไม่สังเกตอาจตกเป็นเหยื่อ แนะ 4 วิธีตรวจสอบสลิปโอนเงิน เช็กใช้ชัวร์จริงหรือปลอม
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์เรื่อง “เครื่องมือ AI สร้างสลิปโอนเงินปลอม” กรณีเกิดจากการที่อาจมีคนร้ายใช้เทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) โดยเฉพาะฟีเจอร์ใหม่ของ Chat-GPT เรียกว่า “Images in ChatGPT” ที่สามารถสร้างภาพ “สลิปธนาคารโอนเงินปลอม” มาใช้ในการหลอกลวงได้
“กระทรวงดีอี ขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบยอดเงินในบัญชีของตนเองทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม โดยเฉพาะการรับโอนเงิน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากสลิปธนาคารปลอม ซึ่งหากไม่สังเกตอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย
ส่วนวิธีการตรวจสอบเมื่อมีการส่งสลิปโอนเงินมาให้นั้น ต้องเช็กใช้ชัวร์ว่าเป็นของจริงหรือปลอม โดยมีวิธีตรวจสอบได้แก่ 1.สังเกตความละเอียดของตัวเลข หรือตัวหนังสือ หากเป็นสลิปปลอม แบบของตัวหนังสือบนสลิป ในส่วนของชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่ เวลา อาจจะเป็นตัวหนังสือคนละแบบหรือความหนา-บางของตัวอักษรจะไม่เท่ากัน หากเป็นเช่นนี้ อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นสลิปปลอม 2. สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินแบบ E-Slip สามารถตรวจสอบ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันและเวลาที่โอนเงินได้ หากยอดเงินไม่ตรง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นสลิปปลอม
3.ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินเข้าบัญชี สามารถนำไปเทียบ ยอดเงินกับสลิปได้ 4.ใช้ระบบจัดการร้านค้า ที่มีฟังก์ชัน ตรวจสอบสลิปการโอนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ สามารถเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบตรวจสอบสลิป และยอดเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ร้านค้าประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบสลิปปลอมได้
...
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่กระทำหรือใช้สลิปปลอม ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและการปกปิดข้อความจริง โดยความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม