แม้ว่า “ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 จะชนะการเลือกตั้ง แต่ “อีลอน มัสก์” ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความโดดเด่นมาก ในฐานะผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาคนสำคัญของทรัมป์ โดยเขาใช้ทั้งทรัพยากรทางการเงินและแพลตฟอร์มเทคโนโลยี (Twitter หรือ X) ของเขาเพื่อส่งเสริมแคมเปญการเลือกตั้ง
“มัสก์” ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัทนวัตกรรมระดับโลก อาทิ รถยนต์ Tesla, บริษัทสำรวจอวกาศ SpaceX, Neualink, The Boring Company, X และ xAI เป็นต้น
การมี “มัสก์” เป็นส่วนหนึ่งของทีมทรัมป์ทำให้เขามีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลมากขึ้นในวงการการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ชัยชนะของ “ทรัมป์” ส่งผลกระทบต่อเขามาก โดยเฉพาะหุ้นในเครือของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ Tesla เพิ่มขึ้น 39% มูลค่าตลาดทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นทันที 7 หมื่นล้านดอลลาร์ และยังส่งผลให้บริษัทในเครือของเขาได้รับประโยชน์จากนโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและเทคโนโลยี
ไม่เพียงเท่านั้น เขาและ “วิเวก รามาสวามี” ซึ่งเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ ให้เป็นผู้นำร่วมของ Department of Government Efficiency (DOGE) หรือหน่วยงานประสิทธิภาพของรัฐบาล
ซึ่งหน่วยงานนี้ บังเอิญชื่อเหมือนกับ Dogecoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุลหนึ่งที่ “มัสก์” ได้ให้การสนับสนุนอย่างมากมาตลอด ที่ผ่านมามูลค่าของ Dogecoin เพิ่มขึ้นอย่างมากตามตลาดที่นำโดยบิทคอยน์ และยังเพิ่มขึ้นประมาณ 13% หลังจาก “มัสก์” ได้รับการแต่งตั้งจาก “ทรัมป์” แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับ DOGE แม้แต่น้อย
...
หน่วยงาน DOGE เป็นหน่วยงานอิสระ เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาเกิดจากนโยบายของ “ทรัมป์” จุดประสงค์สำคัญเพื่อปฏิรูประบบราชการ จะทำการตรวจสอบและวิเคราะห์กระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐบาล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยลดความไร้ประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ด้วยการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป และอาจกำจัดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนด้วย
ใช้เทคโนโลยี AI ปรับปรุงประสิทธิภาพครั้งใหญ่
การปฏิรูประบบราชการดังกล่าว คาดว่าจะประหยัดเงินได้ราว 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ตั้งเป้าหมายที่จะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 250 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา
การทำงานจะร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อระบุและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากร รวมทั้งการให้คำปรึกษาและแนะนำ ติดตามและประเมินผลให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลและมีประสิทธิภาพ
“อีลอน มัสก์” และ “วิเวก รามาสวามี” ยังไม่ได้ให้รายละเอียดถึงแผนงานมากนักเพียงแค่ระบุว่าจะใช้ทนายความและเทคโนโลยีขั้นสูงมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดสรรกฎระเบียบต่างๆที่จะกำจัดออกไป และสิ่งแรกที่ “รามาสวามี” ได้สื่อสารออกไปคือให้พนักงานของรัฐบาลกลางกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าการบังคับดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ภายใต้แผนการลดขนาดระบบราชการ ซึ่งอาจจะลดจำนวนพนักงานได้ถึง 25%
สำหรับเครื่องมือชั้นสูงที่จะถูกนำมาใช้ “มัสก์” ผู้ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกมองว่าจะนำมาใช้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล พร้อมทั้งระบุจุดบกพร่องหรือขั้นตอนที่ต้องปรับปรุงในกระบวนการทำงานของภาครัฐ
รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของภาครัฐ และการส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาซับซ้อนที่รัฐบาลเผชิญอยู่
สอดคล้องกับเขาที่ให้คำมั่นโครงการนี้จะโปร่งใสสูงสุด โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการติดตามข้อมูลผ่านทุกช่องทางบนแพลตฟอร์ม AI ของเขา เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่างบประมาณส่วนใดบ้างที่ถูกใช้ไปโดยไร้ประโยชน์ในแต่ละปี
กระทรวงยุติธรรมเสนอผ่าธุรกิจ “กูเกิล”
ขณะเดียวกัน ทางด้านกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่ผู้บริหารบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางธุรกิจของ “มัสก์” ล่าสุดทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เสนอให้ศาลรัฐบาลกลางบังคับให้กูเกิลขายเบราเซอร์ Chrome ออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดตลาด หลังจากศาลมีคำตัดสินเมื่อเดือนสิงหาคมว่า Google ใช้แนวทางผิดกฎหมายในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดการค้นหาออนไลน์ อีกทั้งยังขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามอาจพิจารณาบังคับขายแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ออกไปด้วย
การบีบบังคับให้ขายเบราเซอร์ออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้คู่แข่งสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น โดยกูเกิลมีแผนอุทธรณ์ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้และจะมีการพิจารณาคดีในเดือน เม.ย.ปีหน้า
...
กรณีของกูเกิลนี้ นับว่าเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากเพราะ “ทรัมป์” มีนโยบายสำคัญคือการเปิดสงครามเทคโนโลยีกับจีน (เทควอร์) ที่เขามุ่งมั่นจำกัดอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีจากจีน โดยเขาเคยระบุว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องมีบริษัทเทคโนโลยีเจ๋งๆ เช่น กูเกิล เพื่อตอบโต้จีน
ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าอนาคตของกูเกิล ภายใต้ “ทรัมป์” จะเป็นเช่นใด.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม