ไทยคมปิดดีลผูกขาดสัญญาใจระยะยาวกับ SpaceX ให้เป็นผู้ยิงจรวดส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ของไทยคมภายในปี 2570 ด้วยจรวด Falcon 9 จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ (Reusable Rocket) ลำแรกของโลก

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ STI ในเครือไทยคม ผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียมแห่งเอเชียและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ได้เข้าทำสัญญากับ SpaceX บริษัทเทคโนโลยีอวกาศจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญในการสร้าง ออกแบบ รวมทั้งส่งจรวดและอวกาศยานที่ทันสมัยที่สุดในโลก ให้เป็นผู้ส่งดาวเทียมไทยคม 10 (THAICOM-10) ซึ่งเป็นดาวเทียมเทคโนโลยี Software-defined High Throughput Satellite (SD-HTS) ดวงใหม่ของไทยคมขึ้นสู่วงโคจร

โดยดาวเทียมไทยคม 10 เป็นดาวเทียมรุ่นใหม่แบบ SD-HTS มีขนาดความจุ 120 Gbps (Gigabits per Second) ออกแบบและสร้างโดยบริษัทแอร์บัส Airbus Defence and Space SAS (France) จากฝรั่งเศส โดยดาวเทียมแบบ SD-HTS ดังกล่าว แตกต่างจากดาวเทียมรุ่นก่อน ตรงสามารถปรับพื้นที่ให้บริการ ปริมาณช่องสัญญาณ และย่านความถี่ ในขณะที่โคจรอยู่บนอวกาศได้ ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลาย และยังสามารถขยายบริการการสื่อสารให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ขณะที่ SpaceX จะส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจร ที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ของไทยคม ด้วยจรวด Falcon 9 จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ (Reusable Rocket) ลำแรกของโลก ณ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามกำหนดจะยิงจรวดส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2570 และให้บริการได้ในปีเดียวกัน

...

“ไทยคมเป็นพันธมิตรกับ SpaceX มาอย่างยาวนาน เริ่มจากการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ.2557 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในดาวเทียมดวงแรกๆที่ถูกส่งด้วยจรวด Falcon 9 จากความสำเร็จดังกล่าว เราจึงใช้บริการของ SpaceX ส่งดาวเทียมไทยคมดวงต่อๆมาด้วยเช่นกัน จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและความน่าเชื่อถือของจรวด Falcon 9 เรามั่นใจว่าความร่วมมือกับ SpaceX ในครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นในการส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างคุ้มค่าและสำเร็จตามแผนที่วางไว้”

ทั้งนี้ วงโคจรที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกดังกล่าว ไทยคมประมูลชนะมาในราคา 417 ล้านบาท ระหว่างเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ซึ่งเดิมเป็นวงโคจรที่ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย อินโดจีน อินเดีย

ก่อนหน้านี้เมื่อ 6 มี.ค.2567 สเปซเทค อินโนเวชั่น ยังเพิ่งประกาศว่าเลือก Astranis บริษัทผู้ผลิตและให้บริการดาวเทียมชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างดาวเทียมไทยคม 9 (THAICOM-9) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ด้วยดาวเทียมเทคโนโลยี High Throughput Satellite

ไทยคม 9 ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก รุ่น MicroGEO ระบบ Ka-band บริการครอบคลุมทวีปเอเชีย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ในการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าและพันธมิตรของไทยคมทั่วภูมิภาคเอเชีย มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ.2568

ดาวเทียมรุ่นใหม่ดังกล่าว สามารถเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเมื่อโคจรอยู่บนอวกาศ โดยมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยี Software-defined Radio ทำให้สามารถปรับพื้นที่การให้บริการ จัดสรรช่องสัญญาณ ตลอดจนควบคุมย่านความถี่ ระดับพลังงาน และระบบการทำงานอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม