กูเกิล-เทมาเสก-Bain & Company เปิดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ไทยยังรั้งที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าสินค้ารวม 1.2 ล้านล้านบาท แต่คาดอีก 2 ปีข้างหน้ามีสิทธิถูกเวียดนาม ฟิลิปปินส์แซง เผยท่องเที่ยวออนไลน์ สินเชื่อออนไลน์ไทยโตเด่น พบเงินสดไม่ใช่ราชาในภูมิภาค SEA อีกต่อไป เพราะปีนี้สัดส่วนการใช้บริการการเงินดิจิทัลสูงเกิน 50% ของธุรกรรมทั้งหมดแล้ว
นางแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำ (Country Director) กูเกิล (Google) ประเทศไทย กล่าวระหว่างการเปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report-Reaching new heights : Navigating the path to profitable growth) ซึ่งกูเกิล, เทมาเสก และ Bain & Company ได้ร่วมกันจัดทำว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แต่เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างน่าทึ่ง โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchan dise Value : GMV) จะขยับขึ้นสู่ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เติบโต 16% โดยยังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย และคาดว่าจะมีมูลค่ารวมแตะ 50,000 ล้านเหรียญฯ และทะลุ 100,000 ล้านเหรียญฯ ภายในปี 2568 และ 2573 ตามลำดับ
...
ส่วนภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบด้วย 6 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลปีนี้จะอยู่ที่ 218,000 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 11% จากปีที่ผ่านมา
“ภายใน 2 ปีข้างหน้าคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะยังคงอันดับที่ 2 ของภูมิภาคไว้ได้ แต่หลังจากปี 2568 มีแนวโน้มว่าอาจถูกเวียดนามหรือฟิลิปปินส์แซงหน้า จากปัจจัยด้านจำนวนประชากรที่มากกว่า รวมทั้งนโยบายผลักดันภายในประเทศ”
สำหรับเครื่องยนต์ที่ช่วยดันอัตราเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปีนี้คือการท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 85% เติบโตเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค โดยคาดว่ามูลค่ารวมจะแตะ 5,000 ล้านเหรียญฯ จากช่วงก่อนโควิดที่ในปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 7,000 ล้านเหรียญฯ
เช่นเดียวกับบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital financial services: DFS) ซึ่งปีนี้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และมีการใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเกิน 50% ของธุรกรรมการเงินทั้งหมด ทำให้เงินสดไม่ใช่ราชาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไปแล้ว
ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า กว่า 70% ของมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด 30% แรก สำหรับประเทศไทย ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (High-value users: HVUs) มีการใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (Non-HVUs) โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ใช้จ่ายสูงดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงหรืออยู่ในเมืองเพียงอย่างเดียว.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทความไซเบอร์เน็ต" เพิ่มเติม