Google Cloud เผยผลสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลก พบไทยติด 1 ใน 3 ประเทศที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ร่วมกับสิงคโปร์และเยอรมนี แต่การฟอกเขียว (Greenwashing) และการสร้างภาพว่ารับผิดชอบยังเป็นปัญหาแพร่หลาย แม้ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น

กูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) ได้เผยผลสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลกที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ 1 ใน 3 ประเทศที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ร่วมกับสิงคโปร์และเยอรมนี

ทั้งนี้ แบบสำรวจความยั่งยืนประจำปี ครั้งที่ 2 ของ CXO โดยมอบหมายจาก Google Cloud และมี The Harris Poll เป็นผู้จัดทำ มีการสำรวจผู้บริหารระดับสูงกว่า 1,476 คนจากตลาด 16 แห่ง ประกอบด้วยตลาด 4 แห่งในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย โดยปัจจุบันความยั่งยืนถือเป็นภารกิจหลักขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและคุณภาพของอากาศ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์

...

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ในประเทศไทย (85%) ตระหนักดีว่า ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและทำธุรกิจกับแบรนด์ที่ตระหนักถึงความยั่งยืนมากขึ้น และ 84% เชื่อว่าการยืดเวลาออกไปหรือลดระดับความสำคัญของเป้าหมายด้านความยั่งยืนจะส่งผลเสียต่อมูลค่าขององค์กร อย่างไรก็ตาม 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การดำเนินงานของผู้นำองค์กรไม่สอดคล้องกับการตัดสินใจที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเต็มที่ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ 76% ของผู้บริหารเหล่านี้ เผชิญความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้วยงบประมาณที่น้อยลงกว่าเดิม

ผลสำรวจยังบ่งชี้ด้วยว่า การฟอกเขียว (Greenwashing) โดยไม่ได้รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และการสร้างภาพว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรยังเป็นปัญหาที่แพร่หลายในหมู่ผู้บริหารในไทย โดยเกือบ 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจ (69%) กล่าวว่า องค์กรของตนกล่าวเกินจริงหรือนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการด้านความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารส่วนใหญ่ (83%) เชื่อว่าการฟอกเขียวเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัทไม่สามารถวัดผลลัพธ์หรือความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมักจะกล่าวเกินจริงถึงความพยายามด้านความยั่งยืนของตน

“ดังนั้น นอกเหนือจากการวัดผลที่แม่นยำแล้ว องค์กรจำเป็นต้องทบทวนโครงสร้างและโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะที่มีอยู่ใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน นอกเหนือจากการปรับแนวทางที่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่จะช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กรแล้ว การมีวิธีการที่คล่องตัวและการสร้างความสามารถภายใน ยังอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับความสำเร็จด้วย” เอพริล ศรีวิกรม์ ผู้อำนวยการ Google Cloud ประจำประเทศไทย กล่าวปิดท้าย.