สวนกระแสวันแรงงาน ด้วยตัวเลขการปลดพนักงานในบริษัทเทคโนโลยี เช่น Amazon, Zoom, eBay, Dropbox, Peloton, Twitter สถิติ 4 เดือนในปี 2023 เกินทั้งปี 2022 ไปแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีตัวเลขพนักงานโดนปลดสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกในปี 2023 นี้ โดยปัจจุบันในวันที่ 28 เมษายน 2023 มีพนักงานโดนปลดไปแล้วประมาณ 184,600 คน จากทั้งหมด 617 บริษัททั่วโลก

10 บริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง กับสถิติการปลดพนักงานด้านเทคโนโลยีในปี 2023 โดย layoffs.fyi

  • Google ปลดพนักงานไป 12,000 คน คิดเป็น 16% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 75,000 คน โดยประมาณ
  • Meta ปลดพนักงานไป 10,000 คน คิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 76,923 คน โดยประมาณ
  • Microsoft ปลดพนักงานไป 10,000 คน คิดเป็น 5% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 200,000 คน โดยประมาณ
  • Amazon ปลดพนักงานไป 8,000 คน คิดเป็น 2% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 400,000 คน โดยประมาณ
  • Dell ปลดพนักงานไป 6,650 คน คิดเป็น 5% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 133,000 คน โดยประมาณ
  • Yahoo ปลดพนักงานไป 1,600 คน คิดเป็น 20% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 8,000 คน โดยประมาณ
  • Zoom ปลดพนักงานไป 1,300 คน คิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 8,666 คน โดยประมาณ
  • Lyft ปลดพนักงานไป 1,072 คน คิดเป็น 26% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 4,123 คน โดยประมาณ
  • Electronic Arts ปลดพนักงานไป 780 คน คิดเป็น 6% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 13,000 คน โดยประมาณ
  • Twitter ปลดพนักงานไป 200 คน คิดเป็น 10% ของพนักงานทั้งหมด จำนวน 2,000 คน โดยประมาณ

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า เดอะเกรทเลย์ออฟ (The Great Layoffs) คือ ปรากฏการณ์การเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่มีผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2022 จนสู่ปี 2023 นี้ “จากความรุ่งโรจน์” อธิบายโดยง่าย ก็คือ อุปสงค์ อุปทาน ของผู้จ้าง และผู้ถูกจ้างที่เห็นพ้องต้องกันในช่วงเวลาหนึ่งสู่การว่าจ้างเพื่อให้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ที่ต้องรีบกอบโกยร่วมกัน จนเข้า “สู่ความสั่นคลอน” เกิดความผันผวน อันเนื่องมาจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และไม่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการปรับตัวต่อเศรษฐกิจในอนาคต จนกลายเป็นปัญหาต้นเหตุที่สะสมรวมกันเป็นก้อนใหญ่ของผู้ว่าจ้าง จนต้องเลย์ออฟพนักงานของตนเอง

...

สถานการณ์โควิด-19

หนึ่งในสถานการณ์สำคัญของสาเหตุการเลิกจ้างงาน อันเนื่องมาจากบางธุรกิจในสายเทคโนโลยีสามารถเติบโตได้ไวใน วิกฤติโรคระบาดนี้ ด้วยการทำงานแบบ Work from home ซึ่งงานสายเทคโนโลยีส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยมาก สามารถทำงานได้ปกติ แถมยังเติบโตได้ดี เช่น บริการการขนส่ง และเดลิเวอรี่ มีอัตราการเติบโตสูงมาก มีรายได้มหาศาลจนต้องหาคนทำงานเพิ่ม, ธุรกิจ E-commerce ก็ได้ผลกระทบเชิงบวก, การเรียนออนไลน์ รวมถึงนวัตกรรมการเชื่อมต่อกันของผู้คนโดยผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดการจ้างงานของคนทำงานเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก บริษัทต่างๆ หันมาใส่ใจพนักงานสายเทคโนโลยีมากขึ้น มีการแข่งขันในการว่าจ้างด้วยข้อเสนอสุดพิเศษที่ใครๆ ก็ต้องยอมรับกันทั้งนั้น

เมื่อสถานการณ์ได้คลี่คลายลง ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันได้ ทำให้รายได้ในส่วนนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขัดกับข้อเสนอที่ว่าจ้าง ทำให้บางบริษัทที่ไม่ได้มีทุนมากนักจนเกิดการพักงาน และปลดพนักงานในที่สุด

วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จากสถานการณ์ของสงครามนี้ ทำให้สภาวะทางการเงินของแต่ละประเทศได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนัก ลามไปจนถึงธุรกิจต่างๆ เกิดการชะลอตัว การขยายธุรกิจ หรือเติบโตของธุรกิจนั้นแทบจะเป็นไปได้ยาก เนื่องมาจากสภาวะเงินที่เฟ้อขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มากมายในด้านพลังงานต่างๆ กลับสูงขึ้น เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจถดถอย กระทบถึงหุ้นของเทคโนโลยีต่างๆ พากันดิ่งลงเหว ไม่มีแรงดึงดูดให้น่าลงทุนอีกต่อไป จากผลกระทบรูปแบบโดมิโนจากสงคราม ทำให้บริษัทมีกำไรน้อยลงจากเดิมไปอีกขั้นหนึ่ง

สภาพการว่าจ้างงานก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกธุรกิจต้องมีการวางแผนรัดเข็มขัด และลดการจ้างงานที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งเหตุผลนี้ก็เป็นทางออกที่ควรทำอยู่แล้วของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นตัวแปรสำคัญ

หนึ่งสิ่งที่มนุษย์อย่างเรากลัวนั้น เริ่มค่อยๆ คืบคลานมาทีละก้าว อย่างปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานเหมือนกับสมองมนุษย์ มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างเต็มระบบ และปัญญาประดิษฐ์บางตัวนั้นสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้จริงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ตู้จำหน่ายตั๋ว เครื่องขายน้ำ หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ที่เรามักจะเห็นเจ้าของกิจการต่างๆ เริ่มนำของเหล่านี้มาให้บริการแทนการว่าจ้างงานมนุษย์เป็นที่เรียบร้อย เพราะปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้สามารถทำงานที่น่าเบื่อแทนมนุษย์ได้โดยไม่มีข้อแม้ การลงทุนที่มีผลดีในระยะยาว มีหรือที่นักลงทุนจะไม่สนใจ รวมทั้งการมาของ ChatGPT ที่สามารถเขียนโปรแกรม ทำคอนเทนต์ที่ใช้ภาพ และวิดีโอในการหาข้อมูลก็ใกล้จะมาทำงานแทนพนักงานเงินเดือนได้อีก นี่คือสิ่งที่มนุษย์เทคต้องปรับตัว และต้องเก่งกว่า หรือไม่ก็ต้องเอาชนะปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ให้ได้

ขณะเดียวกัน บางบริษัทที่เริ่มปลดพนักงาน และมีแผนที่จะนำปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มาทำงานแทนแล้ว ด้วยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ต้องมีสวัสดิการใดๆ แถมยังลดต้นทุนได้อีกมากมาย การมีพนักงานประจำก็คงอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

การแข่งขันกันเองของธุรกิจเทคโนโลยี

เรื่องนี้อาจจะดูไม่ใหม่เท่าไร แต่มีผลกระทบอยู่ไม่น้อย จากบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ ทุนหนาอาจเริ่มมีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่ม ทำให้กำไรถดถอยลด ยกตัวอย่างเช่น Meta กับ TikTok, Grab และ Uber, Netflix และ Disney+ ซึ่งพอมีคู่แข่งก็ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง เกิดการแข่งขันสูงขึ้น เงินทุนในการว่าจ้างต้องมีการปรับสัดส่วนใหม่ การลดพนักงานเพื่อไปแข่งขันทางการตลาดก็เป็นอีกทางออกหนึ่งในธุรกิจเช่นกัน

นอกจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกในบริษัทเทคโนโลยีที่มีความผันผวนอยู่เยอะ มีตัวแปรที่หลากหลาย ตามบริบทของบริษัทนั้นๆ ที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงขาลงของบริษัทเทคโนโลยี ขนาดเจ้าของธุรกิจยังต้องปรับตามกลไกของเศรษฐกิจโลก มนุษย์เงินเดือนแบบเราก็ไม่อาจคาดการณ์ปัญหาการเลย์ออฟนี้ได้ ซึ่งทางเรายังมีตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่ยังสามารถรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ดีมาเล่าสู่กันฟัง

...

Apple เลย์ออฟพนักงานน้อยที่สุด

หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของโลกที่มีผลประกอบการ และจำนวนการปลดพนักงานที่น้อย สวนกระแสกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ นั่นคือ แอปเปิล 

ประเด็นนี้ควรต้องกล่าวว่า แอปเปิล มีการวางแผนระยะยาวในการจ้างพนักงาน และคุมอัตราการจ้างงานอย่างเหมาะสมในช่วงขาขึ้น ไม่รีบรับพนักงาน เพราะบริษัทแอปเปิล ยังมองว่าการเติบโตของบริษัทเองยังอยู่ในอัตราที่สมส่วนและพอดี

ทิม คุก ซีอีโอ Apple ถือคติ “การปลดพนักงาน” เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ต้องทำหากจำเป็น

โดยปัจจุบัน แอปเปิล เริ่มมีการปลดพนักงานอยู่บ้าง แต่เป็นการเฉลี่ยตามตำแหน่ง เช่น พนักงานขายปลีก, ฝ่ายซ่อมบำรุงสินค้า, ฝ่ายจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ตอนนี้ยังปลดในจำนวนที่ไม่มาก โดยมีการชดเชยเงินเดือนสูงสุด 4 เดือน

อย่างที่ทราบดีว่า ต่อให้แข็งแกร่งแค่ไหนวิกฤติเศรษฐกิจ และโรคระบาดโควิด-19 ก็ยังมีผลให้เห็นอย่างชัดเจน แต่คงต้องชมทางบริษัทแอปเปิลที่ไม่รีบร้อน และมีนโยบายชัดเจน ทำให้ได้ใจทั้งพนักงาน รวมถึงผู้บริโภคไปอยู่ไม่น้อยในเหตุการณ์นี้

การแก้ไขปัญหาเลย์ออฟพนักงานของ Meta

อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง Meta เป็นอีกบริษัทที่ประสบปัญหาในการเลย์ออฟพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีการแก้ไข ปัญหา และทางเลือกให้กับพนักงานที่ถูกเลย์ออฟ เช่น การให้คนที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งงาน สามารถเลือกย้ายตำแหน่งไปทำงานในตำแหน่งอื่นของเมตาได้ 

แต่ถ้าในกรณีที่ ไม่สามารถหาตำแหน่งงานอื่นทดแทนได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามปกติ 

นอกจากนี้ Meta ยังมีแนวทางการลดตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งมีหน้าที่สั่งงาน แล้วลงมาทำงานด้านการเขียนโค้ดมากขึ้น หรือเลือกไปทำงานวิจัย เพื่อให้เกิดฟันเฟืองในการทำงานให้มากที่สุด 

...

ในเวลาเดียวกัน การจำนวนผู้บริหารระดับกลางยังช่วยลดช่องว่างของพนักงานและฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดการสื่อสารได้ง่ายขึ้น

อนาคตหลังวิกฤติ The Great Layoffs

ถึงแม้จะมีการปลดพนักงานออกไปกันเป็นจำนวนมากของแต่ละบริษัทเทคโนโลยี การปลดพนักงานมีเหตุผลในเรื่องของสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ข้างต้น ดังนั้นการเลย์ออฟพนักงานออกเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหา เพื่อความอยู่รอดของบริษัท ถึงแม้สร้างความเจ็บปวดแก่พนักงานที่ทำงาน แต่ผู้มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสามารถต่อยอดเส้นทาง รวมถึงการพัฒนาทักษะของตนเองได้ในแขนงงานอื่นๆ โดยไม่รู้จบ

อาชีพสายเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ยังไงก็ตกงานไม่นาน เพราะว่า เทคโนโลยีโลกได้พัฒนาไปไกลอย่างรวดเร็ว หลายบริษัทยังมีความจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรในสายอาชีพนี้ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในด้าน Software Engineering and Development และ Cyber Security ที่ต้องเติบโตควบคู่ไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต