เหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่นับวันนั้นยิ่งแพร่ระบาดไปทั่วทุกแพลตฟอร์มพัฒนากลโกงให้ตามไม่ทัน และบางทีแฝงตัวอยู่ในกลุ่มไลน์ได้อย่างแนบเนียน หากไม่สังเกตดีๆ หรือเอะใจอาจจะตกเป็นเหยื่อไปแบบไม่รู้ตัว

หนึ่งในกลโกงหลอกลวงที่แยบยลยุคใหม่ ส่วนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่มีผู้ใช้เกือบ 50 ล้านรายในประเทศไทย นอกเหนือจากการขอแอดไลน์เป็นเพื่อนกับเหยื่อแล้ว อาชญากรอาจแฝงตัวอยู่ใน LINE OPENCHAT คอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวมเหล่าผู้ที่ชื่นชอบและมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งมิจฉาชีพในรูปแบบของ “แอดมินปลอม” เป็นกลโกงที่มาในหลากหลายสถานการณ์และกำลังแพร่ระบาด

อยู่ในขณะนี้ โดยทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “แอดมินตัวจริง” และหลงเชื่อ

พฤติกรรมของ “แอดมินปลอม” ประกอบด้วย 1.ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชตใหม่ อ้างโทรศัพท์มีปัญหา 2.ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชตใหม่ อ้างกลุ่มเต็ม 3.ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชตใหม่ อ้างเจ้าตัวเข้าบัญชีไลน์เดิมไม่ได้ 4.ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชตใหม่ อ้างกลุ่มเดิมโดนสแปมก่อกวน 5.ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชตใหม่ พร้อมของรางวัลล่อใจ

...

ส่วนวิธีสังเกตและป้องกัน “แอดมินปลอม” บนโอเพนแชต ที่จะช่วยให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ มีตั้งแต่ 1.สังเกตรูปโปรไฟล์ “แอดมินตัวจริง” จะมีไอคอนมงกุฎที่จะคร่อมทับระหว่างรูปโปรไฟล์และกรอบไอคอนโปรไฟล์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอมแปลงไม่ได้ โดยเหล่าแอดมินปลอม มักจะครอปรูปไอคอนมงกุฎไปวางอยู่ในรูปโปรไฟล์ซึ่งดูไม่ค่อยชัดเจน โดยจะใช้ชื่อคล้ายๆแอดมินตัวจริง

2.ตรวจสอบจากรายชื่อสมาชิก ชื่อในลำดับแรกจะเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเอง ลำดับที่ 2 จะเป็นแอดมินตัวจริงของห้อง ซึ่งหนึ่งห้องจะมีแอดมินหลักเพียงคนเดียวเท่านั้น และลำดับถัดไปจะเป็น Co-Admin (ในหนึ่งห้องสามารถมี Co-Admin ได้มากกว่า 1 คน) กรณีที่มีรูปมงกุฎ แต่รายชื่อรวมอยู่กับสมาชิกกลุ่มคนอื่นแสดงว่าเป็นแอดมินปลอม 3.ไม่กดลิงก์น่าสงสัย มักจะเป็นลิงก์กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องที่เข้าร่วมอยู่ อาจจะเป็นกลุ่มแปลกปลอม หรือเว็บไซต์ภายนอก ซึ่งต่อให้ไม่อยู่ในรูปแบบของแอดมินปลอม แต่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มาเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหลอกลวง เช่น ชวนทำงานเสริม รับสมัครงาน สร้างรายได้ ก็เป็นอีกแนวที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน.