จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโต 2.4% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นปัจจัยลดทอนกำลังซื้อผู้บริโภค ได้ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอที (Devices) เติบโตลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านไอทีอื่นๆ ตั้งแต่ดาต้าเซ็นเตอร์, ซอฟต์แวร์, บริการด้านไอที และบริการด้านสื่อสาร (Communication Services) ล้วนมีอัตราเติบโตทั้งสิ้น

“ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ธุรกิจแบบ B2C (Business to Customer) จำนวนมากต้องเลิกจ้างพนักงาน แต่องค์กรภาคธุรกิจ ยังมียอดใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้นผ่านการเดินเครื่องโครงการดิจิทัลต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม”

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่าในปี 2566 กลุ่มซอฟต์แวร์ (Software) และบริการไอที (IT Services) จะเติบโตสูงสุดที่ 9.3% และ 5.5% ตามลำดับขณะที่กลุ่มอุปกรณ์ไอที (Devices) คาดว่าจะเติบโตลดลง -5.1% เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจขยายรอบอายุการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆออกไป

...

“ช่วงการระบาดใหญ่ ผู้บริโภคต่างเปลี่ยนอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานและการศึกษาแบบทางไกลหรือรีโมตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ หากไม่มีเหตุผลอันจำเป็นในการอัปเกรด ผู้บริโภคจะยังใช้อุปกรณ์เดิมต่อไปนานขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าและอุปกรณ์ไอที”

สำหรับยอดการใช้จ่ายด้านไอทีของไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 934,886 ล้านบาท เติบโต 4.2% จากปี 2565 โดยในกลุ่มซอฟต์แวร์และกลุ่มบริการด้านไอทีเติบโต 14.9% และ 10.4% ตามลำดับ จากปัจจัยองค์กรต่างเพิ่มค่าใช้จ่ายกับโครงการด้านดิจิทัล โดยเฉพาะองค์กรท้องถิ่นในประเทศไทยที่มียอดใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้น

และเช่นเดียวกับเทรนด์ตลาดโลกในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกัน โดยคาดว่าจะลดลง -4.7% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องจากปี 2565 ที่เติบโตถดถอย -4.1%

รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวอีกว่า ตำแหน่งงานว่างที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสและในหลายประเทศมีอัตราตำแหน่งงานที่เปิดรับต่ออัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันแย่งชิงบุคลากร สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนับว่าท้าทายการทำงานของผู้บริหารไอทีเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น สิ่งนี้ยังส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดบริการด้านไอที เนื่องจากบริษัทต่างต้องการดึงตัวพนักงาน ที่มีทักษะด้านไอทีไปช่วยงานด้านการวางระบบ แต่เมื่อหาไม่ได้ องค์กรต่างต้องหันไปใช้บริษัทที่ปรึกษา ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการใช้จ่ายด้านบริการให้คำปรึกษา ซึ่งคาดว่าจะสูงแตะ 264,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2565.