หลายๆผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีได้คาดการณ์ว่า ในปี 2566 นี้จะเป็นปีของความล้ำหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยคุ้นเคยกัน

การพัฒนาของ “เอไอ” ในช่วงที่ผ่านมาคล้ายกับเป็นการโฆษณาโอ้อวดคำโต การพัฒนามาตรฐานออกมาไม่มีความเด่นชัด มีเฉพาะบนแพลตฟอร์มของค่ายต่างๆที่พัฒนาระบบการเรียนรู้ การจดจำของตนเอง

แต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โอเพ่นเอไอ (OpenAI) ได้จัดใหญ่เปิดตัว ChatGPT เป็นโปรแกรมแชทบอท รุ่นแรกที่ได้รับการตอบรับจากผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยที่แห่เข้าไปทดลองติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวเพื่อทดลองใช้งานและพากันทึ่งถึงการตอบคำถามของ “เอไอ” ที่บางครั้งตอบได้ดีกว่ามนุษย์เราด้วยซ้ำไป

หากจะเทียบกับ Siri ของ Apple, Alexa ของอเมซอน หรือ Google Assistant ซึ่งเหล่านี้เราจะคุ้นเคยกันว่าเป็นผู้ช่วยเลขาส่วนตัวเหล่านี้กลายเป็นเด็กๆไปเลย ChatGPT ทำได้มากกว่านั้นมากมาย นอกจากจะตอบคำถามได้อย่างคมคายแล้ว ยังสามารถเขียนบทความ ช่วยคิดคำแนะนำตัวอย่างน่าสนใจ เขียนบทกลอนไปจนถึงการเขียนโค้ดคำสั่งคอมพิวเตอร์ การแต่งเพลง

...

จุดเด่นของ ChatGPT ก็คือการใช้ภาษามนุษย์ที่พูดคุยกันในชีวิตจริง สามารถยอมรับความผิดพลาดในสิ่งที่ตัวเองสนทนาได้ การยอมรับได้ว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือตอบผิดพลาดไป ไม่ได้พยายามตอบทุกสิ่งทุกอย่าง

ChatGPT เป็นแชทบอทโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ได้รับการปรับแต่งอย่างละเอียด ทั้งการควบคุมและเทคนิคการเรียนรู้แบบเสริมแรง โดย OpenAI ได้เปิดให้ทดลองสนทนาผ่านเอนจิน GPT เวอร์ชัน 3.5

ทั้งนี้ OpenAI เป็นห้องปฏิบัติการวิจัย “เอไอ” เป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมิตรในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์โดยรวม ก่อตั้งขึ้นในซานฟรานซิสโก เมื่อปลายปี พ.ศ.2558 โดยอีลอน มัสก์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ร่วมกันบริจาคเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมา “มัสก์” ได้ลาออกแต่ยังคงเป็นผู้บริจาค ในปี 2562 ได้รับเงินลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์จากไมโครซอฟท์

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน OpenAI ยอมรับว่า ChatGPT มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น อาจสร้างคำตอบที่ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่จริงๆแล้วไม่ถูกต้อง เพราะในกระบวนการเรียนรู้ก็มีข้อจำกัดว่าข้อมูลไหนบ้างที่ถูกต้อง คำตอบมักยาวเกินควร เพราะตอนเรียนรู้ว่ามนุษย์มักชอบคำตอบยาวๆ OpenAI ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลใหม่เวอร์ชัน GPT เวอร์ชัน 4 ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายปี แต่ก็มีข่าวออกมาว่าจะมีความสามารถที่เก่งกว่า ChatGPT เวอร์ชัน 3 ถึง 500 เท่า ซึ่งอาจจะพลิกโฉมในวงการแต่งเพลง วิดีโอแอนิเมชัน การเขียนโค้ด การแปลภาษา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวว่าไมโครซอฟท์เตรียมนำ ChatGPT เข้าไปไว้ในเครื่องมือสืบค้นหาข้อมูล Bing ให้สามารถตอบคำถามได้ทันที แทนที่จะเป็นการค้นหาลิงก์เหมือนในปัจจุบัน

ทางด้านการเขียนโค้ด จะได้เห็นการนำเครื่องมือผู้ช่วยเขียนโค้ดอย่างเช่น Copilot มาใช้กันแพร่หลาย จนถึงจุดที่วิศวกรซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยอมรับว่านำมาใช้เป็นประจำ ซึ่งมนุษย์เราต่อไปอาจจะเป็นเพียงแค่ดูแลหรือควบคุมให้ “เอไอ” ทำงานให้เอง

กระแสของ “เอไอ” ในปีนี้ยังได้ยืนยันจากกรณีสถาบันการศึกษาในมหานครนิวยอร์กได้ทำการบล็อก ChatGPT บนเครือข่ายและอุปกรณ์ของสถาบันการศึกษา ทำให้บรรดานักเรียนและครูไม่สามารถเข้าถึง “แชทบอท” นี้ได้ โดยให้เหตุผลว่า เกรงว่าจะเกิดผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมถึงความถูกต้องของเนื้อหาหรือข้อมูล แม้ว่า ChatGPT อาจจะสามารถตอบคำถามได้รวดเร็วและง่ายดาย แต่ไม่ได้สร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา ซึ่งมีความจำเป็นต่อความสำเร็จทางวิชาการ

...

นี่เป็นการตอบสนองต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง ที่หวั่นว่าจะกระทบต่อการศึกษาทั้งระบบ

แต่สำหรับอาชีพอิสระที่ “เอไอ” สามารถทำงานทดแทนได้นั้นอาจจะได้เห็นผลกระทบกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข่าว แต่งเพลง คนขับรถ นักบัญชี การตลาดออนไลน์ ทนายความ ไปจนถึงแพทย์เลยทีเดียว

เข้าสู่ยุค “เอไอ” เปลี่ยนแปลงโลกอย่างแท้จริง!!