กลางศตวรรษที่ 20 มีการใช้พลาสติกอย่างแพร่หลายในเกือบทุกอุตสาหกรรมและในชีวิตผู้คน เพราะพลาสติกใช้ได้สะดวกมาก มีราคาถูก แต่ในอีก 50 ปีต่อมา พลาสติกที่เพิ่มพูนก็กลายเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพของโลกและผู้คน เนื่องจากการผลิตพลาสติกต้องใช้น้ำมันจำนวนมากและใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งได้กลายเป็นขยะหลายร้อยล้านตันในทุกปี ขยะเหล่านี้จะไปจบในหลุมฝังกลบ มหาสมุทรหรือแม้แต่ปนเปื้อนในร่างกายมนุษย์ในรูปแบบของไมโครพลาสติก

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเห็นพ้องว่าการรีไซเคิลคือกุญแจสำคัญในการลดมลภาวะพลาสติกและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่วิธีการรีไซเคิลแบบเดิมจะสลายโพลิเมอร์ให้เป็นผงเผา หรือใช้เอนไซม์จากแบคทีเรียช่วยละลายโพลิเมอร์ เพื่อให้พลาสติกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก เพื่อนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ในสหรัฐอเมริกา เสนองานวิจัยใหม่ที่อาศัยแนวคิดว่าถ้าทำให้พลาสติกที่ทนทานซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ แยกย่อยทางเคมีออกเป็นหน่วยโครงสร้างพื้นฐาน และก็นำมาสร้างเป็นวัสดุเดียวกันอีกครั้ง น่าจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติก

ทีมระบุว่าได้ย้อนกลับวิธีทางเคมีและค้นพบว่าสามารถทำลายและสร้างพันธะเคมีใหม่ในโพลิเมอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการทบทวนโครงสร้างทางเคมีของพลาสติกชนิดอื่นๆ อาจนำไปสู่การค้นพบวิธีการสลายและสร้างพันธะเคมีที่คล้ายคลึงกันอย่างสมบูรณ์ ทำให้สามารถผลิตพลาสติกแบบหมุนเวียนมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา.