ภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) อธิบายถึงอิทธิพลทางภูมิศาสตร์ที่มีต่ออำนาจการเมืองโลก อันเป็นผลจากการแข่งขันระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ในยุคปัจจุบันภูมิศาสตร์การเมืองไม่เพียงจำกัดอยู่แค่การแข่งขันเพื่อให้เหนือกว่าทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการมีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติเหนือประเทศอื่นๆ (Soft Power) เท่านั้น แต่ยังรุกคืบเข้าสู่โลกเทคโนโลยีดิจิทัลอีกด้วย

หนึ่งในตัวอย่างของภูมิศาสตร์ทางการเมือง (Geopolitics) คือการแข่งขันช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจในทุกด้านของสหรัฐอเมริกาและจีน ตลอดจนกระแสกลับด้านของโลกาภิวัตน์หรือ Degloblolization ที่เปลี่ยนจากการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ต้นทุนถูกกว่า เป็นการลงทุนหรือย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่สนิทชิดเชื้อกว่าแทน

ในส่วนของภูมิศาสตร์การเมืองทางดิจิทัล (Digital Geopolitics) นั้น การ์ทเนอร์ประเมินว่าผลกระทบของการกำกับดูแลทางเทคโนโลยีที่เกิดจากการเมืองระหว่างประเทศ กำลังเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากการสำรวจความเห็นบอร์ดบริหารขององค์กรต่างๆทั่วโลก พบ 41% มองว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจ

...

ไบรอัน เพลนติส รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า มีผู้บริหารมากมายกำลังจัดการกับข้อจำกัดในการจัดหาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด โดยภูมิศาสตร์การเมืองทางดิจิทัลประกอบด้วย

1.การปกป้องอธิปไตยดิจิทัล (Protect Digital Sovereignty) รัฐบาลหลายประเทศจัดการเรื่องนี้ผ่านการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายนอกอาณาเขต (Extraterritorial Legis lation) มากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่ต้องติดต่อหรือ ทำธุรกรรมกับพลเมืองในประเทศนั้นๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่ว่าองค์กรจะดำเนินธุรกิจอยู่ที่ใดก็ตาม

2.กระแสสนับสนุนการเกิดเทคโนโลยีท้องถิ่น (Build a local technology industry) รัฐบาลหลายประเทศกำลังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีของตน ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯพยายามแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลน จากกำลังผลิตที่ไม่สมดุล โดยไต้หวันและจีนเป็นผู้ผลิตหลัก สหรัฐฯจึงออกผ่านกฎหมายสร้างแรงจูงใจให้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่ออเมริกา ในชื่อกฎหมาย CHIPS for America Act (หรือ Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act) และรัฐบาลออสเตรเลียที่นำเสนอแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลปี 2030 (Digital Economy Strategy 2030) สนับสนุนการสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ

3.การเพิ่มสมรรถนะทางทหารที่จำเป็น (Achieve necessary military capability) ผ่านการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยี เพิ่มความเสี่ยงในการสงครามไซเบอร์ และมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์อาจถูกแทรกแซง ตลอดจนสั่งการให้ดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น

4.ความพยายามในการปกป้องไซเบอร์สเปซ (Exert direct control over the governance of cyberspace) ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกย่อมต้องการป้องกันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศให้มีความปลอดภัยนำไปสู่การแข่งขันเพื่อควบคุมไซเบอร์สเปซ จนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง.