ชำแหละธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง คนไทย 26 ล้านคนนิยมรับชม ใช้เวลาวันละ 1-3 ชั่วโมง แต่เป็นการเสพคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มต่างประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Viu, Disney+ hotstar หรือ YouTube แนะกลยุทธ์แพลตฟอร์มไทยใช้การตลาดหางยาว (Long Tail) สู้กลับ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เผยผลศึกษาโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งเพื่อรองรับเศรษฐกิจในยุคแพลตฟอร์มครองโลก ชี้ทางสว่างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสัญชาติไทย ได้มีโอกาสแทรกตัวเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคอย่างที่สตรีมมิ่งยอดนิยมจากต่างประเทศ อาทิ Netflix, Viu, Disney+ hotstar, iQIYI และ Spotify สามารถทำได้

ETDA พบว่า คนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 รับชมวิดีโอตามความต้องการ (Video on Demand) ที่สามารถเข้าถึงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เวลาดูคอนเทนต์ออนไลน์เหล่านี้ ประมาณ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน และ 92% ใช้บริการมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม

ผลสำรวจโดยบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด ยังพบว่า 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากที่สุด คือ 1.กลุ่มบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง รายการวาไรตี้ จากผลสำรวจ พบว่า ในปี 2563 รายได้ภาพยนตร์และวิดีโอเฉพาะสตรีมมิ่ง มีมากกว่า 38,003 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของอุตสาหกรรม และรายได้เพลงเฉพาะสตรีมมิ่งทั้งไทย เกาหลี มีมากกว่า 1,700 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของอุตสาหกรรม

...

2.กลุ่มนันทนาการ เป็นกลุ่มกีฬา การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกม e-Sport ยกตัวอย่าง กีฬาฟุตบอลไทยลีก (Thai League) ได้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางสตรีมมิ่ง ในช่วงระหว่างปี 2560-2563 มากกว่า 4,200 ล้านบาท หรือในปี 2563 กีฬาเกม e-Sport มีรายได้อยู่ที่ราว 24,000 ล้านบาท 3.กลุ่มสาระ ได้แก่ กลุ่มข่าว การศึกษา ความรู้ทั่วไป ฝึกอบรมและการพัฒนาตัวเอง เช่น การทำอาหาร การทำธุรกิจ

ETDA ประเมินว่า ในปี 2566 คาดว่า จะมีคนไทยดูวิดีโอสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น 2.10 ล้านราย เติบโต 3.04% ขณะที่ตัวเลขผู้ชมทั่วโลกในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 968.32 ล้านราย เติบโต 12.10% โดยสัดส่วนของผู้ใช้บริการแบบวิดีโอสตรีมมิ่งจะสูงกว่าบริการรับชมสด เนื่องจากบริการวิดีโอสตรีมมิ่งสามารถเลือกชมได้ตามชอบ ไม่จำกัดด้วยช่วงเวลาออกอากาศที่แน่นอน แต่ปัญหาคือความเต็มใจที่ลูกค้าจะเปลี่ยนจากการทดลองดูฟรี ไปสู่การสมัครสมาชิกและชําระค่าใช้บริการ

ส่วนหากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไทยจะฮึดสู้กลับสตรีมมิ่งต่างชาติที่เข้ามายึดหัวหาดผู้ชมชาวไทยไปแล้วเกือบทั่วหัวระแหงนั้น สิ่งที่สตรีมมิ่งไทยควรมุ่งหน้าไปสู่ คือการชูเสน่ห์ท้องถิ่น เนื่องจากคงไม่สามารถสู้ปะทะกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น YouTube หรือ Netflix ได้ตรงๆ และอีกหนึ่งปัญหาคือภาษาและความท้าทายในการเก็บค่ารับชม

การผลิตคอนเทนต์ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบ Long Tail ที่เน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ในแบบที่ต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ยอดนิยมเท่านั้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่แพลตฟอร์มไทยน่าจะลองเลือกใช้ ชูจุดแข็งในฐานะแพลตฟอร์มท้องถิ่นและคอนเทนต์ท้องถิ่น (Local Content) ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่า “รายได้จากสินค้าหมวดรอง เมื่อรวมกันแล้วอาจจะสูงกว่ารายได้สินค้าขายดีที่เป็นหมวดหลักก็ได้” โดยรวบรวมและนำเสนอเนื้อหาที่มีความแตกต่างเฉพาะ มีเสน่ห์ เฉพาะตัวและเป็นกระแสความต้องการ ในด้านมุมมองความสนใจ วัฒนธรรม และภาษา เช่น สร้างภาพยนตร์เป็นภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ผลิตคอนเทนต์วิถีชีวิตคนอีสาน และการทำคอนเทนต์แปลงภาษากลางให้เป็นภาษาเหนือหรือภาษาอีสานผสมกัน เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมป้อนสู่ตลาดหลัก (Mainstream Platform)

นอกจากนั้น การทำเนื้อหาคอนเทนต์ที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีร่วมด้วย น่าจะช่วยสร้างรายได้และลดเงินไหลออกต่างประเทศ ตลอดจนการดึงอาชีพครูเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้สตรีมมิ่งคอนเทนต์ เป็นพื้นที่นำเสนอคอนเทนต์เชิงการศึกษา และสาระความรู้นอกห้องเรียน ที่เด็กทั่วประเทศจะได้สนุกสนานกับการเรียนรู้ผ่านมุมมองของครูที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กมีความรู้เชิงลึกขึ้น และครูก็ได้รับรายได้เสริมจากค่าโฆษณากลับมา.