คนเรามักจะใช้ความรู้สึกสัมผัสในสภาพแวดล้อมของชีวิต แต่สิ่งสำคัญในการโต้ตอบกับสภาพแวดล้อม เช่น การเอื้อมมือเข้าไปในตู้เย็นเพื่อหยิบไข่ เมื่อนิ้วสัมผัสเปลือกไข่ คนคนนั้นจะรู้และบอกได้ว่าไข่ฟองนั้นเย็น มีเปลือกเรียบ และต้องจับไว้แน่นแค่ไหนเพื่อหลีกเลี่ยงการแตก และนี่คือสิ่งที่มนุษย์พยายามถ่ายทอดสู่หุ่นยนต์

ล่าสุดสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้พัฒนาผิวหนังเทียมใหม่ที่ทำให้หุ่นยนต์ “เอ็ม-บอต” (M-Bot) ตรวจจับรับรู้อุณหภูมิ ความดัน หรือแม้แต่สารเคมีที่เป็นพิษผ่านการสัมผัสอย่างง่ายๆ ตัวเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจจับรับรู้ที่ฝังอยู่ภายในไฮโดรเจนจะวางยึดติด กับผิวหนังของมนุษย์ เซ็นเซอร์เหล่านี้พิมพ์ลงบนผิวหนังจริงๆในลักษณะเดียวกับที่เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตพิมพ์ข้อความบนแผ่นกระดาษ คนที่ใช้งานระบบผิวหนังเทียมจะควบคุมหุ่นยนต์ด้วยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ โดยแมชชีนเลิร์นนิงจะเป็นตัวแปลงสัญญาณการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเห็นว่าหุ่นยนต์จะเคลื่อนไหวและสัมผัสวัสดุเลียนแบบท่วงท่าของผู้ควบคุม

จุดมุ่งหมายของการพัฒนาระบบผิวหนังเทียมเพื่อใช้กับหุ่นยนต์ ก็เพื่อให้มนุษย์ควบคุมหุ่นยนต์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปกป้องมนุษย์จากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หุ่นยนต์ยุคใหม่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในด้านความมั่นคง เกษตรกรรม และการผลิต หุ่นยนต์จึงต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบผิวหนังจะช่วยให้สัมผัสได้ถึงอุณหภูมิ หรือในอนาคตอาจทำให้สัมผัสถึงสารเคมี เช่น วัตถุระเบิด สารทำลายประสาท และสิ่งอันตรายทางชีวภาพอย่างแบคทีเรียและไวรัสที่ก่อโรค.

(Credit : Caltech)