ดีแทค-เฟซบุ๊กโชว์พื้นที่ผู้หญิงไทยในโลกเทคโนโลยีขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้น สายงานวิศวกรรมโอบล้อม “นายช่างหญิง” ว่าทำงานได้ไม่แตกต่าง แถมละเอียดและคิดเยอะ ส่งผลดีต่องาน ด้านเฟซบุ๊กเผยจำนวนเจ้าของกิจการที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นชัดเจนในช่วงโควิดที่ผ่านมา
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า บุคลากรที่สมดุล (Balanced Workforce) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (TMT) มักถูกมองว่าขาดความสมดุล โดยเฉพาะในแง่เพศสภาวะ โดยรายงานฉบับหนึ่งของ Deloitte Insights ระบุว่า สัดส่วนของผู้หญิงในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกคิดเป็นเพียง 25% ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กอาจพบความท้าทายกว่า โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร การขาดซึ่งกระบวนการจ้างงานที่ส่งเสริมความหลากหลายในระดับองค์กร
“แต่สำหรับในดีแทค เรามีทีมหญิงเก่งแห่งกลุ่มงานเทคโนโลยี ผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายนวัตกรรมของดีแทค ยกตัวอย่างทีม Data Analytics แห่งเทคโนโลยีกรุ๊ป ซึ่งช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับการใช้พลังงาน ภายใต้จุดมุ่งหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573”
ทั้งนี้ การมีส่วนผสมของทีมงานที่หลากหลายจะช่วยเติมเต็มจุดแข็งซึ่งกันและกันได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจะมีความละเอียดลออ คิดเยอะ ซึ่งจุดนี้ช่วยเสริมให้เกิดการวิเคราะห์ที่ดี เนื่องจากงาน Data analytics จะต้องมีการตั้งสมมติฐาน เพื่อให้สามารถหาคำตอบที่สงสัย แล้วหาอินไซต์จากข้อมูลนั้นๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น
...
โดยปัจจุบันภาพการเปลี่ยนผ่านสายงานเทคโนโลยีในมิติทางเพศเริ่มชัดเจนมากขึ้น สายงานวิศวกรรมเปิดกว้างจากอดีต ที่คนอาจมองว่าผู้หญิงเรียนสู้ผู้ชายไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยทางกายภาพ ตลอดจนค่านิยมทางสังคม ทําให้ผู้หญิงที่เรียนในคณะวิศวกรรมมีน้อย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงแสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางกายภาพไม่มีผลต่อการศึกษาในคณะวิศวกรรมและการทํางานในสายงานที่ถูกมองว่าชายเป็นใหญ่ (male domi nance) อย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ขณะที่แพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทย ในนาม Meta กล่าวว่า ผลวิจัยพบว่าธุรกิจที่นำโดยผู้หญิง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจมากกว่า โดยธุรกิจมักมีขนาดเล็กกว่าและทำกำไรได้น้อยกว่าธุรกิจที่ผู้ชายเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังเติบโตช้ากว่า และมีอัตราการปิดตัวสูงกว่าด้วย
ขณะที่ผู้หญิงไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายนับไม่ถ้วน แต่พวกเขาได้หันเข้าหาโลกแห่งการค้าบนแพลตฟอร์มของ Meta มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสองปีที่ผ่านมาท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด สถิติในประเทศไทยพบว่าธุรกิจบนอินสตาแกรม (Instagram) ที่ระบุว่าเจ้าของเป็นผู้หญิง เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 17% และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด กว่า 50% ของเพจเฟซบุ๊กธุรกิจที่เปิดใหม่ มีเจ้าของเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นในปี 2564 ที่ผ่านมา มากกว่า 60% ของกลุ่มเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ยังถูกสร้างขึ้นโดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงในประเทศไทยด้วย
“ประวัติศาสตร์ทำให้เราได้เห็นผู้หญิงที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา ขณะที่โลกต้องต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 การที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือการปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิง เพื่อสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และเท่าเทียมกันมากขึ้น”.