เทรนด์ไมโครชี้เป้า การแพทย์ทางไกลหรือ telemedicine อาจกำลังถูกท้าทายจากอาชญากรไซเบอร์ หลังถูกนำมาใช้รักษาพยาบาลในยุคโควิด ขณะที่พฤติกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ การทำงานที่บ้าน การซื้อสินค้าออนไลน์ การใช้แอปสั่งอาหาร การใช้แอปสื่อสารเพื่อการทำงานและประชุม ตลอดจนการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด ล้วนอยู่ในความเสี่ยง

นีเลช เจน รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียของเทรนด์ไมโคร บริษัทผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยบนเครือข่ายออนไลน์ กล่าวว่า การทำงานที่บ้าน หรือ WFH ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่ๆ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอีเมลต้มตุ๋น สแปม และการล่อลวงแบบฟิชชิงที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

“โควิด-19 จะสร้างความท้าทายด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับองค์กรธุรกิจทั่วโลก อาทิ อีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโต ซึ่งจะมีอาชญากรพยายามบุกเข้าไปในระบบโลจิสติกส์เนื่องจากมีการจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการก่อวินาศกรรมการผลิต การลักลอบขนส่ง (trafficking) และการขนส่งสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือเฮลธ์แคร์ที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากแพทย์เป็นจำนวนมากหันมาใช้ระบบการรักษาทางไกลหรือ telemedicine ความปลอดภัยด้านไอทีสำหรับระบบเฮลธ์แคร์จะถูกทดสอบ ข้อมูลผู้ป่วยอาจเป็นเป้าหมายของการโจมตี และอาจนำไปสู่การจารกรรมทางการแพทย์อีกด้วย”

ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2020 ที่ผ่านมา เทรนด์ไมโครได้บล็อกภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นจำนวน 62,600 ล้านครั้ง หรือประมาณ 119,000 ครั้งต่อนาที โดย 91% ของภัยคุกคามเกิดจากอีเมล นอกจากนั้นยังพบการโจมตีเครือข่ายภายในบ้าน หรือ Home Network เพิ่มขึ้นถึง 210% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

...

“จากการวิจัยของเทรนด์ ไมโคร เราพบว่ามี 4 เรื่องที่น่าสนใจและนำไปสู่ภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ หรือ Cybercrime นั่นคือการ WFH, การใช้แอปพลิเคชัน Food Delivery, แอปพลิเคชัน Messaging และข่าวสารข้อมูลที่หลั่งไหลในช่วงโควิด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ สำหรับการรักษาความปลอดภัย”

ในกรณีของการ WFH ทำให้แอปพลิเคชันต่างๆเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งแอปพลิเคชันตัวแรกที่น่าระวังอย่างยิ่งคือแอปพลิเคชันเพื่อการช็อปปิ้งออนไลน์ โดยผลการวิจัยระบุว่าการสูญเสียจากการช็อปปิ้งออนไลน์มีมูลค่าสูงกว่า 420 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น การใช้แอปพลิเคชันเพื่อการส่งอาหาร หรือ Food Delivery ก็อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยง ด้วยอัตราการใช้งานที่พุ่งสูงกว่าเดิมถึง 25% ในปีผ่านมา ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชันด้าน Messaging ก็มาถึงจุดที่สามารถกลายเป็นภัยคุกคามได้ เนื่องจากมีการติดต่อสื่อสารผ่านทางข้อความในช่วงทำงานหรือประชุมกันมากขึ้น รวมทั้งข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทุกคนต้องการหาข้อมูล ก็เป็นอีกจุดที่กลายเป็นความท้าทายเช่นกัน.