การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ทั้งผู้เรียนและผู้สอน จากเผชิญหน้าสู่เผชิญจอ แต่ในอนาคตก็อาจกลายเป็นหลักสูตรระยะสั้นรูปแบบใหม่
ดร.สินีนาถ สุขทนารักษ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ เปิดเผยว่า รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ก่อนหน้านี้ ไม่สามารถถ่ายความรู้ได้ชัดเจนนัก จึงทำให้ต้องมีการเพิ่มอุปกรณ์ประกอบการสอนออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้เป็นไปอย่างชัดเจนที่สุด
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์ ดร.สินีนาถ ยอมรับว่า มีทั้งผลดี-ผลเสีย กล่าวคือ นักศึกษาสามารถเข้าห้องเรียนตรงเวลา เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่มหาวิทยาลัย และอาจารย์ผู้สอนสามารถบันทึกวิดีโอระหว่างการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถดูและทบทวนบทเรียนย้อนหลังได้
อย่างไรก็ดี มันก็มีข้อเสียในแง่ของการฝึกปฏิบัติ เพราะในบางวิชาไม่สามารถปฏิบัติได้จากที่บ้าน และทำให้นักศึกษาขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ไม่เหมือนกับในห้องเรียน
ดร.สินีนาถ ประเมินว่า ในอนาคตการเรียนออนไลน์ อาจส่งผลดีต่อบุคคลทั่วไป ไม่ใช่แค่เฉพาะนักศึกษา โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องการ Reskill หรือ Upskill ซึ่งทำให้เกิดหลักสูตรระยะสั้นแบบใหม่ๆ สามารถเข้าเรียนได้ตลอดเวลาจากที่ใดก็ได้
...