โหมโรงก่อนการประชุม WWDC (Worldwide Developers Conference) การประชุมประจำปีของ “แอปเปิล” กับนักพัฒนาทั่วโลกบนแพลตฟอร์มของค่ายนี้ นำเสนอถึงซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอปเปิล เพื่อให้นักพัฒนาได้เจาะลึกถึงเครื่องมือใหม่ๆที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากที่สุด

ก่อนการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่าง 7-11 มิ.ย.นี้ ทางทีมงานขอแนะนำนักพัฒนาชาวไทยที่มีเส้นทางการพัฒนาแอปพลิเคชันจนประสบความสำเร็จอย่างไร เพื่อเป็นแรงบันดาลใจของผู้ที่กำลังฝึกฝนพัฒนาแอปขึ้นมากับเป้าหมายสู่ความสำเร็จในอนาคต

ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งอาจจะมีนักพัฒนาชาวไทยที่นำผลงานก้าวไปสู่ระดับโลกให้ผู้คนทั่วโลกได้ใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันกัน

********

แอปพลิเคชัน iTAX-คำนวณและวางแผนภาษี
ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง

“แอปคำนวณวางแผนการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มต้นกับผู้ใช้งานหลักพันคนกับจุดเปลี่ยนการก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งกลุ่มไฟแนนซ์ ในแอปสโตร์ ขึ้นแซงหน้าแอปธนาคาร กับผู้ใช้งานปัจจุบันกว่า 6 แสนคน จากฐานผู้เสียภาษีเงินได้ 11 ล้านคนทั่วประเทศ

...

จุดเริ่มต้นจากผมเป็นนักกฎหมาย ระหว่างการเดินทางไปศึกษาต่อระดับ ปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มองว่าอยากพัฒนาแอปแนวทางป้องกันการเลี่ยงการชำระภาษี เพราะมีผู้คนจำนวนมากอยากชำระภาษีให้ถูกกฎหมายแต่ทำไม่เป็น เมื่อไม่ได้ชำระจึงถูกภาครัฐลงโทษ ดูแล้ว ไม่ถูกต้อง จึงพัฒนาโปรแกรมการคำนวณ ให้สะดวกและง่ายที่สุด

แนวคิดคือเรื่องภาษีเข้าใจง่ายโดยไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องภาษีมาก่อน เพียงแค่โหลดแอป ใส่รายได้เข้าไป พร้อมกับค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ และอัปเดตมาตรการของรัฐล่าสุดเข้าไป แค่นี้ก็เสร็จสิ้น นำไปชำระภาษีกับกรมสรรพากรได้เลย

นอกจากนี้ยังมีเมนูแบบทดลองคำนวณดูว่า จะชำระภาษีอัตราเท่าใดและ ได้รับคืนภาษีเท่าใด

ปัจจุบัน แอปนี้มีบริการคำนวณแค่ ภงด.91 เพียงประเภทเดียว และ ขณะนี้อยู่ใน TAX Sandbox ร่วมกับธนาคารกรุงไทยซึ่งในอนาคตจะมี การทำงานร่วมกัน

การที่จะผลักดันแอปโดยสตาร์ตอัพชาวไทย ซึ่งเป็นภาคเอกชนให้ทางภาครัฐยอมรับและนำประโยชน์ของแอปนำไปใช้งานต่อเนื่องกับธุรกรรมกับภาครัฐเป็นเรื่องยากมากในอดีต แต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารของกรมสรรพากรที่มองว่าเอกชนมีความน่าเชื่อถือทำไมถึงไม่ทำร่วมกันจึงเริ่มต้นเป็นพาร์ตเนอร์เป็นทางการรายแรกกับกรมสรรพากร

โมเดลของธุรกิจ เนื่องจากเป็นแอปบริการฟรี บริการผู้มีรายได้ที่มองหาช่องทางการลดหย่อนภาษี มีรายได้หลักมาจากโฆษณาจากผู้ประกอบการ และในอนาคตคาดว่าจะมีการเติบโตจากฐานตัวเลขผู้เสียภาษีอีกมาก”

********

แอปพลิเคชัน FIN–กองทุนรวม MutualFund
สุทธิวัฒน์ ยังคล้าย ผู้ก่อตั้งและนักพัฒนา

“พัฒนาแอปขึ้นมา เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตนเองที่มีปัญหาการซื้อกองทุนรวมเพื่อลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่รัฐส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวสำหรับชีวิตหลังเกษียณด้วยการนำไปหักลดหย่อนภาษีประจำปี ซึ่งปัจจุบันได้รับเรตติ้งใน App Store ระดับสูง

...

เริ่มต้นจากฟังก์ชันวิเคราะห์ข้อมูล ตามข้อมูลที่นักลงทุนได้ลงทุนในแหล่งลงทุนต่างๆ ปัจจุบันได้นำเอา “ฟีดแบ็ก” ของ ผู้ใช้งานที่มีความต้องการต่างๆมาพัฒนาเป็นเวอร์ชันใหม่ๆกับจุดเด่นคือตอบสนองให้ผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้แอปมีประโยชน์กับผู้ใช้สูงอย่างทันท่วงที เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ขึ้นไปช่วงที่ผ่านมาพัฒนาแอปด้วยตัวคนเดียว เป็นทั้งผู้พัฒนาและเป็นดีไซเนอร์ออกแบบแอป ซึ่งได้รับการตอบสนองที่ดีทำให้มี

การพัฒนาต่อเนื่องจนเข้าถึงกลุ่มนักลงทุน พร้อมกับตั้งเป้าหมายเป็นแอปสำหรับการเทรดของกองทุนรวมไทย และพยายามก้าวเข้าไปถึงการลงทุนในตลาดต่างประเทศในอนาคต

ปัจจุบันยอดดาวน์โหลดแอปประมาณกว่า 4 แสนราย แต่เป็นแอ็กทีฟยูสเซอร์จริงๆ 5-6 หมื่นราย มีทั้งพนักงานองค์กรทั่วไป กองทุนรวมต่างๆ และพวกรีเทล อินเวสต่างๆ

...

ล่าสุดมีพัฒนาฟีเจอร์ Asset Planning เพื่อวางแผนจัดการตามมูลค่าการลงทุน แบ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง, กลาง เพื่อจัดการพอร์ตโฟลิโอได้อย่างง่ายๆ

บทสรุป มองว่า App Store เป็นมาร์เกตเพลสที่ดีให้โอกาสนักพัฒนาทั่วโลก ซึ่งได้ตามงาน WWDC มาทุกปีเพื่อดูทิศทางเทคโนโลยีเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป”

********

แอปพลิเคชัน WIND Training-แผนการฝึกวิ่งลดอาการบาดเจ็บ
นพ.ภัทรภณ อติเมธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง

“เริ่มต้นจากการเป็นแพทย์ประจำคลินิกสปอร์ตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มนิยมวิ่งออกกำลังกายกันมาก

เมื่อไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำวิจัยและเรียนเกี่ยวกับการรักษาการบาดเจ็บจากการวิ่ง

พอกลับมาเมืองไทยทางโรงพยาบาลได้ตั้งคลินิกนักวิ่ง พบว่าจำนวนนักวิ่งไม่ได้ลดลงและอาการบาดเจ็บจากการวิ่งก็ไม่ลดลงเช่นกัน อาการบาดเจ็บจากการวิ่งค่อนข้างต่างจากกีฬาอื่น

จากการดูข้อมูลพบว่านักวิ่งชาวไทยส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผน การ ฝึกวิ่งที่ชัดเจน ทำให้วิ่งเร็วไป ช้าไป ต้องการมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง แต่สักพักต้องพบกับอาการบาดเจ็บ

...

ซึ่งจะต้องมีแผนการซ้อม ไม่เช่นนั้นอาการบาดเจ็บ 80% มาจากการซ้อมทั้งสิ้น เราป้องกันสาเหตุก่อนได้ เลยเป็นที่มาของการทำแอปขึ้นมา

เพื่อให้การซ้อมมีแบบแผน เป็น Training Plan ให้นักวิ่งทุกคนใช้ได้และนำไปปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ได้ด้วย

การซ้อมแบบทั้ง 2 แผนคือ การซ้อมตามตาราง นั้นหลายคนไม่สามารถทำได้เพราะติดงานบ้าง ติดธุระบ้าง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมา ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งปรับตารางได้เพราะมีการว่าจ้างโค้ช

แอปที่พัฒนาขึ้นมาจะอยู่ตรงกึ่งกลาง ไม่ต้องมีโค้ช สามารถปรับเปลี่ยนตารางของนักวิ่งคนนั้นๆได้จริง

ช่วงพีกๆสุดๆมีนักวิ่งเข้าไปใช้บริการถึง 4-5 พันราย แต่พอช่วงโควิดมาลดลงเหลือเพียง 2 พันราย ช่วงนี้พยายามระมัดระวังไม่ชวนนักวิ่งออกมาฝึกซ้อม เพราะนอกจากไม่พอกับอาการบาดเจ็บแล้ว ยังต้องการให้อยู่ห่างจากโควิด มีสุขภาพที่ดีก่อน

WIND เป็นแอปพลิเคชันแผนการฝึกวิ่งที่ใช้ AI สำหรับ การวิ่ง ภารกิจคือการปรับปรุงประสิทธิภาพของนักวิ่งไทยในขณะที่ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บจากการวิ่ง”.