"NFT" กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และได้รับความสนใจจากเหล่านักลงทุนรุ่นใหม่ เมื่อ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ได้ประกาศขายทวีตแรกของตนเองในรูปแบบ NFT โดยสามารถปิดราคาที่ 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 90 ล้านบาท หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า NFT คืออะไรกันแน่ ทำไมถึงสามารถสร้างมูลค่าได้สูงขนาดนั้น บทความนี้จะพาไปคลายข้อสงสัยกัน

NFT คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมใครๆ ก็พูดถึง?

NFT คือ รูปแบบการรับรองทางดิจิทัล เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล ย่อมาจากคำว่า "Non-Fungible Token" ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนกันได้" ในปัจจุบันได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่กลุ่มนักลงทุนกำลังให้ความสนใจ 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า Fungible หมายถึง สิ่งที่เราสามารถหามาทดแทนกันได้ ทั้งในรูปแบบที่จับต้องได้-จับต้องไม่ได้ เช่น เงิน ทอง บิตคอยน์ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น เรายืมเงินเพื่อน 100 บาท เมื่อใช้หมด เราก็หาเงินจำนวน 100 บาท มาใช้คืนให้เพื่อน อาจจะเป็นธนบัตรใบละ 50 บาท 2 ใบ หรือธนบัตรใบละ 20 บาท 5 ใบ แต่เมื่อรวมกันแล้วก็มูลค่าเท่ากับ 100 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถใช้ทดแทนกันได้

...

แต่สำหรับคำว่า Non-Fungible หมายถึง สิ่งที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ต่อให้ก็อปปี้ไปหลายๆ ชิ้น แต่ต้นฉบับก็มีเพียงหนึ่งเดียว เช่น ภาพถ่าย ภาพวาดศิลปะ ภาพกราฟิก คลิปวิดีโอ เพลง เป็นต้น ซึ่ง NFT ก็เปรียบเสมือนใบรับรองดิจิทัล ที่เข้ามาทำหน้าที่รักษา "ความเป็นต้นฉบับ" ของผลงานว่ามีเพียงชิ้นเดียว ทำทดแทนขึ้นมาใหม่ไม่ได้ โดยบันทึกอยู่ในระบบที่เรียกว่า Blockchain โดยทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้นมีใครเป็นเจ้าของบ้าง

"Crypto Arts" แปลงงานศิลปะดิจิทัลให้มีมูลค่าซื้อ-ขาย 

NFT Art หรืองานศิลปะต่างๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด ภาพถ่าย ภาพมีม กราฟิกศิลปะ การ์ดเกม ฯลฯ เมื่อนำไปแปลงเป็นโทเคน (Token) เข้าสู่ NFT จะถูกเรียกว่า "Crypto Arts" (งานศิลปะเข้ารหัส) กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสามารถซื้อ-ขายได้ 

โดยมีการประมูลขายคริปโตอาร์ตต่างๆ มาแล้วมากมาย เช่น ภาพมีมในตำนาน "Disaster Girl" เด็กหญิงวัย 4 ขวบ ที่หันหน้ามามองกล้อง ในขณะที่ฉากหลังเป็นภาพบ้านกำลังถูกไฟไหม้ เธอได้ตัดสินใจขายรูปของตนเองในรูปแบบ NFT และมีผู้ซื้อไปในมูลค่าราว 15 ล้านบาท 

"Disaster Girl" ภาพมีมอันโด่งดังบนโลกออนไลน์ ถูกนำมาขายในรูปแบบ NFT มูลค่าราว 15 ล้านบาท

การซื้อคริปโตอาร์ตเหล่านี้ ก็เพื่อครอบครอง "กรรมสิทธิ์" ในการเป็นเจ้าของผลงานภาพนั้นเพียงหนึ่งเดียว ทำให้มีสิทธิ์ที่จะขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ต่อไปยังผู้อื่นได้ ถือเป็นการแปลงสินทรัพย์ให้มีมูลค่าในดิจิทัล โดยการซื้อ-ขาย แต่ละครั้ง ก็จะถูกบันทึกเข้าระบบของ Blockchain ทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์คือใคร ต่อให้ชาวเน็ตคนอื่นๆ จะก็อปปี้ไฟล์ภาพนั้นต่อๆ กันอย่างไม่รู้จบ แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์ในการครอบครอง หรือขายต่อให้คนอื่นๆ เพื่อทำเงินได้  

"ค่าธรรมเนียม" และช่องทางในการซื้อ-ขายของ NFT

...

สำหรับแพลตฟอร์มของ NFT ที่ใช้สำหรับซื้อ-ขาย สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ก็มีมากมายหลายเว็บไซต์ ซึ่งต่างก็เป็นแหล่งสะสมผลงานที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น "OpenSea" แหล่งคริปโตอาร์ตที่มีชื่อเสียง ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถแปลงงานของตัวเองสู่ดิจิทัล และตั้งราคาเองได้ หรือ "Valuables" แพลตฟอร์มผลงานศิลปะ ที่มีการซื้อ-ขาย ทวีตแรกของโลกในราคาราว 90 ล้านบาทนั่นเอง

ทั้งนี้ การที่เราจะสร้างสรรค์งานศิลปะ และแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำไปลงไว้ในแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย รูปแบบ NFT ก็อย่าลืมศึกษาเรื่อง "Gas Fee" ซึ่งก็คือ ค่าธรรมเนียมสำหรับการนำข้อมูลไปลงไว้ในแต่ละระบบ Blockchain โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็มีเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน บางเว็บอาจต้องจ่ายเป็นบิตคอยน์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ผู้สนใจลงทุนด้าน NFT ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนทุกครั้งเสมอ

อย่างไรก็ตาม "NFT" นอกจากจะน่าสนใจในแง่ของช่องทางการลงทุน และสร้างรายได้ผ่านผลงานศิลปะดิจิทัลของคนรุ่นใหม่แล้ว ยังน่าจับตามองว่าในอนาคต ตลาดของ NFT จะเติบโตได้มากแค่ไหน รวมถึงจะเข้าไปมีบทบาทในวงการอื่นๆ นอกเหนือจากศิลปะได้หรือไม่ ใครสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องติดตามกันยาวๆ

...