ประเทศไทยติดอันดับ 4 ประเทศ ที่มีการทำธุรกรรมการเงินแบบเรียลไทม์ (ไม่ใช้เงินสด) สูงที่สุดในโลก ตามหลังแค่อินเดีย จีน และเกาหลีใต้ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนธุรกรรม 5,200 ล้านรายการ มากกว่า สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และอเมริกา ประเมินรากฐานที่แข็งแกร่งมาจากการริเริ่มบริการ “พร้อมเพย์” ที่ขับเคลื่อนโดย ธปท.ตั้งแต่ปี 2559
รายงานจากเอซีไอ เวิลด์ไวด์ (ACI World wide) บริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการโซลูชันการชำระเงินแบบเรียลไทม์และโกลบอลดาต้า (GlobalData) บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยครองอันดับ 4 ของโลกในด้านจำนวนการทำธุรกรรมการเงินแบบเรียลไทม์ (การชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสด) โดยครอบคลุมตั้งแต่การใช้บัตรชำระเงิน โมบายเพย์เมนต์ อีวอลเล็ท ตามหลังแค่ประเทศอินเดีย จีน และเกาหลีใต้
โดย 10 ประเทศที่มีจำนวนธุรกรรมเรียลไทม์มากที่สุดในโลก นำโด่งมาโดยอินเดีย มีธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ 25,500 ล้านรายการ รองลงมาคือ จีน 15,700 ล้านรายการ เกาหลีใต้ 6,000 ล้านรายการ ไทย 5,200 ล้านรายการ และสหราชอาณาจักรอยู่อันดับ 5 ที่ 2,800 ล้านรายการ
ส่วนอันดับ 6-10 ได้แก่ ไนจีเรีย 1,900 ล้านรายการ ญี่ปุ่น 1,700 ล้านรายการ บราซิลซึ่งไต่อันดับขึ้นมาติด ท็อปเทน เนื่องจากการเปิดตัวระบบ PIX ที่ 1,300 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 9 ด้วยจำนวนธุรกรรม 1,200 ล้านรายการ และอันดับ 10 เม็กซิโก 942 ล้านรายการ
...
นายเจเรมี วิลมอท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเอซีไอ เวิลด์ไวด์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ตอกย้ำความสำคัญของระบบชำระเงินดิจิทัล และเป็นการย่นย่อการปรับใช้นวัตกรรมที่คาดว่าจะใช้เวลาราว 10 ปีให้เหลือเพียงปีเดียว
สำหรับประเทศไทย การชำระเงินแบบเรียลไทม์เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการเงิน โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงินที่หลากหลาย
ให้แก่ประชาชน เริ่มต้นจากการเปิดตัวบริการ “พร้อมเพย์” (PromptPay) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ของไทย เมื่อปี 2559 อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการจากรัฐบาล ทำให้ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น การใช้โมบาย วอลเล็ท (Mobile Wallet) ในประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกันถึง 83.9% เมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโต 72 % ในปี 2562
รายงานฉบับดังกล่าว ยังจัดอันดับประเทศที่การชำระเงินแบบเรียลไทม์เติบโตเร็วที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ โครเอเชีย คาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR)ในช่วงปี 2563-2568 จะอยู่ที่ 374.4 % รองลงมาคือ โคลอมเบีย (112.7%) มาเลเซีย (83.9 %) เปรู (74.4 %) และฟินแลนด์ (71.4 %) ส่วนภูมิภาคที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุด ในช่วงปี 2563-2568 คือ อเมริกาเหนือ (36.5%) เนื่องจากทั้งแคนาดาและสหรัฐฯกำลังผลักดันและปรับปรุงระบบการเงินเรียลไทม์รูปแบบใหม่ (RTR และ FedNow)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆทองๆ การฉ้อโกงย่อมเกิดขึ้นตามมาเสมอ โดยข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า การฉ้อโกงที่เกี่ยวเนื่องกับบัตรชำระเงิน ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเงินสด (Cash Card) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อพิจารณาในแง่ของจำนวนปัญหาที่ได้รับการรายงานจากผู้บริโภค แต่การฉ้อโกงที่เกี่ยวเนื่องกับระบบชำระเงินดิจิทัลแบบเรียลไทม์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการใช้อุบายหลอกลวง, การโจรกรรมเอกลักษณ์บุคคลและการแฮ็กบัญชีดิจิทัลวอลเล็ท.